xs
xsm
sm
md
lg

“สุพัฒนพงษ์” แทงกั๊กโซลาร์ฯ ทบ.บรรจุในแผนหรือไม่ต้องรอผลศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” เผยโซลาร์ฯ ทบ. 3 หมื่นเมกะวัตต์ยังเป็นแค่โครงการศึกษาที่ต้องบูรณาการร่วมกันทุกฝ่าย จะบรรจุไว้ในแผนพลังงานแห่งชาติหรือไม่ต้องรอผลศึกษาก่อน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ซึ่งจะต้องหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ การไฟฟ้า บมจ.ปตท. เป็นต้น เพื่อที่จะกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนให้ไทยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ของกองทัพบก (ทบ.) ที่คาดว่าจะมีศักยภาพถึง 30,000 เมกะวัตต์จะถูกบรรจุในแผนพลังงานแห่งชาติด้วยหรือไม่จำเป็นต้องรอผลการศึกษา เพราะโครงการดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาเท่านั้นยังจำเป็นต้องบูรณาการกับทุกฝ่าย

“โซลาร์ฟาร์มของ ทบ.ที่ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำร่อง ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 300 MW ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของ ทบ. เป็นโครงการเพื่อการศึกษาศักยภาพเท่านั้น ผมว่าหลายๆ หน่วยงานในไทยมีความปรารถนาดี เช่นเดียวกับโครงการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ขณะนี้จะนำร่อง 500 เมกะวัตต์ก็ต้องมาศึกษาถึงความเหมาะสมร่วมกันอีกครั้ง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญอย่างหนึ่งในการลดการปล่อย CO2 ที่จะดึงทุกฝ่ายมาร่วมขับเคลื่อนคือการปลูกป่าเพื่อมุ่งพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นถือเป็นวิถีของความยั่งยืนอย่างแท้จริง และทำให้คนไทยมีส่วนร่วมได้ทุกคน และยังจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในการส่งเสริมการปลูกป่าอีกด้วย

ส่วนปริมาณสำรองไฟฟ้าปัจจุบันที่อยู่ระดับสูงจากปกติควรอยู่ระดับ 10-20% จึงจะเหมาะสมไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เป็นเพราะผลกระทบโควิด-19 ทำให้สำรองสูงขึ้นเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งทั่วโลกก็กระทบเช่นกัน แต่ขณะนี้เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัว การใช้ไฟฟ้าก็จะเริ่มกลับมา และอนาคตอาจจะสูงขึ้นมากเมื่อก้าวสู่เทคโนโลยีทั้งยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น