xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ไล่บี้ทุจริตถุงมือยาง สั่ง ผอ.อคส.คนใหม่ร่วมมือ ป.ป.ช.หาตัวคนผิด ตามเงิน 2 พันล้านคืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ตามไล่บี้การแก้ปัญหาทุจริตจัดซื้อถุงมือยางของ อคส. เผยคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว คาดชี้ตัวผู้กระทำความผิดได้เร็วๆ นี้ หากรู้ชัดจะตั้งกรรมการชี้โทษและชี้ความรับผิดชดใช้ความเสียหายทันที พร้อมมอบ ผอ.อคส.คนใหม่ร่วมมือ ป.ป.ช.เต็มที่ เอาคนผิดมาลงโทษ และตามเงิน 2,000 ล้านบาทคืน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการดำเนินการเกี่ยวกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กรณีการจัดซื้อถุงมือยางว่า ภารกิจที่ได้ติดตามมาโดยตลอด คือ การเร่งรัดนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และทำอย่างไรเอาเงินคืน อคส.ให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยขณะนี้ขั้นตอนกระบวนการที่นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่กำลังเร่งรัดดำเนินการ คือ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทางวินัยได้ดำเนินการแล้ว และได้รับรายงานล่าสุดว่าคาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้ ถ้ากรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้ลงไปว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด เพื่อชี้โทษ และอีกชุดหนึ่งเพื่อชี้ความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายว่าใครต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ อคส.จำนวนเท่าใด เป็นกลไกที่จะต้องปฏิบัติโดยเร็วให้เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อคส.

ส่วนเรื่องของบอร์ดหรือกรรมการบริหาร ผู้อำนวยการคนใหม่ได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2563 และ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว รวมทั้งอายัดเงินในบัญชีต่างๆ เสร็จสิ้นก่อนหน้านี้นานแล้ว จากนี้ไปเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.จะดำเนินการพิจารณาชี้มูลว่ามีผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือกระทำการโดยมิชอบบ้าง เพราะ ป.ป.ช.มีอำนาจตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงานทุกคน รวมถึงบอร์ด หรือรัฐมนตรี

“ได้สั่งการให้ อคส.ทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ว่าต้องให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.อย่างเต็มที่ เพื่อเร่งรัดในการเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเอาเงินมาคืนให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ โดยไม่มีการละเว้นผู้ใดทั้งสิ้น และเป็นเรื่องที่บอร์ดหรือประธานบอร์ดจะต้องพิจารณาว่ายังสมควรที่จะทำหน้าที่อยู่ต่อไปหรือไม่”

สำหรับเรื่องการระงับสัญญา ได้รับแจ้งจากผู้อำนวยการคนใหม่ว่าฝ่ายกฎหมายได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วว่าสัญญาทุกสัญญาเป็นโมฆะ เพราะผู้ลงนามในสัญญาลงนามเกินอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเป็นเงินเกินกว่า 50 ล้านบาท และไม่ผ่านบอร์ดและสัญญาก็ไม่ผ่านอัยการ เป็นต้น และเท่าที่ได้รับรายงานนั้น แต่ละสัญญาก็มีข้อบกพร่อง เช่น ผู้ลงนามแทนบริษัทไม่มีอำนาจหรือบางกรณีเซ็นไปแล้ว ไม่มีตราประทับบริษัทที่จดทะเบียนไว้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่งผลให้สัญญาเป็นโมฆะ นี่เป็นความเห็นเบื้องต้นของฝ่ายกฎหมาย

ดังนั้น มูลค่าสัญญา 112,500 ล้านบาทก็เหมือนไม่ได้มีนิติกรรมผูกพันกับ อคส. สัญญานั้นจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้ภารกิจที่เหลือ คือ ทำอย่างไรที่จะเอาเงิน 2,000 ล้านบาท ที่อดีตรักษาการผู้อำนวยการโอนไปให้กับบริษัทนั้นคืนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้อายัดบัญชีเหล่านั้นแล้ว

การทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อคส.เมื่อเดือน ส.ค. 2563 โดยได้ทำสัญญากับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้ผลิต และผู้ซื้อถุงมือยางจาก อคส.เพื่อไปขายต่ออีก 7 ราย และได้นำเงินของ อคส.จำนวน 2,000 ล้านบาท จ่ายให้การ์เดียนโกลฟส์เป็นค่ามัดจำสินค้า โดยไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ด อคส. ถือว่าผิดกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่งผลให้บอร์ด อคส.มีมติให้นายเกรียงศักดิ์ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวย อคส.คนใหม่เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ทำหนังสือถึงดีเอสไอ, ป.ป.ช.พิจารณาความผิด และส่งเรื่องให้ ปปง.อายัดเงิน 2,000 ล้านบาท รวมถึงให้ระงับการดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น