“จุรินทร์” โต้พรรคเพื่อไทยอภิปรายเท็จ ยันไม่เกี่ยวข้องทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง อคส. ลั่นไม่ยอมไม่ว่าใครหน้าไหน จะจัดการทั้งทางวินัย-แพ่ง-อาญาจนถึงที่สุด พร้อมโชว์ไทม์ไลน์เมื่อพบการทุจริตดำเนินการ “ย้ายผู้เกี่ยวข้อง-ตั้งกรรมการสอบ-ระงับสัญญา-แจ้ง 3 หน่วยงานอิสระ” ทันที
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตอบโต้การอภิปรายการจัดซื้อถุงมือยางเทียมขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ของนายประเสริฐ จันทรวงทอง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ว่าขอปฏิเสธไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการการดำเนินการแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการ ไม่เป็นทางการ หรือแอบสั่งการในที่ลับที่แจ้งใดๆ ก็ตาม
“ผู้อภิปรายโกหกหลายประการในที่ประชุมสภา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ตั้งกรรมการสอบ การอายัด การดำเนินคดี การดำเนินการเมื่อทราบเรื่องและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดผมได้ดำเนินการการโดยทันทีที่ทราบ และยังได้ประสานงานเรื่องย้ายอดีตรักษาการ ผอ.อคส.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี และเรื่องนี้ผมจะไม่ยอม ไม่ว่าใครทุจริตโครงการจะจัดการทั้งทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา จนถึงที่สุด ตราบที่หน้าที่และกฎหมายให้อำนาจ”
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า การจัดการกรณีถุงมือยางเทียมของ อคส. เมื่อพบการทุจริตในวันที่ 14 ก.ย. 2563 ได้ทำการสั่งย้าย พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส. จากนั้น 15 ก.ย. 2563 มีการตั้งคณะกรรมการสอบทันที ต่อด้วยวันที่ 17 ก.ย. 2563 ได้มีการระงับการซื้อขาย และ 18 ก.ย. 2563 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ได้เข้าแจ้งความต่อทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จากนั้น 23 ก.ย.เข้าแจ้งความต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และต่อมา 19 ต.ค. 2563 ป.ป.ช.เรียกสอบปากคำ 21 ต.ค. 2563 ดีเอสไอส่งมอบสำนวนให้ ป.ป.ช. 29 ต.ค. 2563 ป.ป.ช.มีมติอายัดบัญชีเงิน 2,000 ล้าน
ทั้งนี้ อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ส่วนราชการที่รัฐมนตรีจะมีอำนาจไปสั่งการทางนโยบายได้ แต่ อคส.มีกฎหมาย มี ผอ. มีกรรมการหรือบอร์ดกำกับดูแล คนที่มีหน้าที่วางนโยบายให้ อคส.ไปปฏิบัติ คือ บอร์ด และให้อำนาจบอร์ดเป็นผู้แต่งตั้ง ถอดถอน ผอ. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วน ครม.มีหน้าที่แต่งตั้งบอร์ด หรือถอดถอนบอร์ดออกจากตำแหน่ง ไม่ใช่รัฐมนตรี
“รัฐมนตรีมีอำนาจจำกัดตามพระราชกฤษฎีกา อคส.ฉบับใหม่ พ.ศ. 2535 เอารัฐมนตรีออกจากการเป็นประธานบอร์ด เพราะเดิมรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ด แต่เอารัฐมนตรีออก ให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานบอร์ด ให้ผู้มีความรู้ความชำนาญทางธุรกิจมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อแยกการบริหารกิจการของ อคส.ออกจากการเมือง และรัฐมนตรี มีอำนาจควบคุมดูแลโดยทั่วไป ไม่ใช่สั่งปฏิบัติราชการเหมือนกรมที่ดูแล จึงมีอำนาจเรียกบอร์ด ผอ. หรือบุคคลใน อคส.มาชี้แจง แสดงความคิดเห็น หรือให้รายงาน นี่คืออำนาจรัฐมนตรี ส่วนเรื่องที่จะเสนอ ครม.ให้บอร์ดเสนอผ่านรัฐมนตรีไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาตัดสิน แปลว่ารัฐมนตรีคือบุรุษไปรษณีย์ โดยให้รัฐมนตรีเป็นตัวผ่านนำเรื่องเข้า ครม. และตามกฎหมายให้บอร์ดรายงานเสนอรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้งว่าทำไมออกนโยบายและมีนโยบายอะไรบ้าง สรุปรัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด บอร์ดมีนโยบายอย่างไรแล้ว รัฐมนตรีจะไปสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้” นายจุรินทร์กล่าว
สำหรับการทุจริตจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ เป็นรักษาการผู้อำนวยการ อคส. เมื่อเดือน ส.ค. 2563 โดยได้ทำสัญญากับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้ผลิต และผู้ซื้อถุงมือยางจาก อคส. เพื่อไปขายต่ออีก 7 ราย และได้นำเงินของ อคส.2,000 ล้านบาท จ่ายให้การ์เดียนโกลฟส์เป็นค่ามัดจำสินค้า ทำให้ อคส.ได้รับความเสียหาย
จากนั้นได้ถูกนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยกล่าวหาว่านายจุรินทร์ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต และมีการเปิดแผนผังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยระบุว่านายจุรินทร์เป็นผู้กำกับดูแล มีผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ อคส., พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ อดีตรักษาการ ผอ.อคส., นายเกียรติขจร แซ่ไต๋ ผอ.ฝ่ายขาย อคส., นายศรายุทธ สายคำมี คนสนิทประธานบอร์ด อคส. และมีบริษัทเอกชนเกี่ยวข้องที่เป็นผู้ขายและผู้ซื้อรวม 8 ราย