เจรจาสีเหลืองต่อขยายถึงทางตัน EBM ยืนกรานไม่ชดเชย BEM ทุกกรณี บอร์ด รฟม.ให้ประเมินตัวเลขใหม่ ส่วนสีส้มเดินหน้า Market Sounding 1 ก.พ. เปิดประมูลใหม่ใน เม.ย. บอร์ดเคาะแผนเงินกู้ปี 65 วงเงิน 2.9 หมื่นล้าน ชำระหนี้ค่าก่อสร้าง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วันนี้ (25 ก.พ.) ว่า บอร์ดรับทราบผลเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยายฯ จากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีพหลโยธิน 24 กับ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง กรณีผลกระทบต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ โดยทาง EBM ได้ทำหนังสือเมื่อ 18 ธ.ค. 2563 ยืนยันว่าไม่สามารถรับภาระกรณีที่ BEM ขาดรายได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ
บอร์ดให้ รฟม.ศึกษาตัวเลขเพิ่มเติมกรณีที่ต้องทำส่วนต่อขยายสายสีเหลืองว่าจะมีภาระค่าชดเชยให้สายสีน้ำเงินเท่าไร และนำเสนอบอร์ดในครั้งหน้า ทั้งนี้ รฟม.ยังอยากเจรจากับ EBM เพื่อให้รับเงื่อนไขการเจรจาตามสิทธิ์ ซึ่งการจะชดเชยหรือไม่ ทาง BEM ต้องพิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบจริง โดยการศึกษาก่อนหน้านี้ประเมินว่าสีเหลืองต่อขยายเปิดปีแรกจะกระทบทำให้ผู้โดยสาร MRT สีน้ำเงินลดลงราว 9,000 คน และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีท้ายๆ ซึ่งคิดเป็นรายได้ที่กระทบเฉลี่ย 20 บาทต่อคน
@ 1 ก.พ.รับฟังความเห็นเอกชน ทำร่าง RFP ประมูลสีส้มใหม่
นายภคพงศ์กล่าวว่า บอร์ดยังได้สอบถามถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งได้รายงานว่า กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ยกเลิกการประกาศคัดเลือกเดิม และจะเริ่มดำเนินการคัดเลือกใหม่ตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ทั้งนี้ บอร์ดได้กำชับให้ รฟม.ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สำหรับขั้นตอนในการคัดเลือกใหม่นั้น จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โดยจะประกาศในเว็บไซต์ รฟม. ในวันที่ 1 มี.ค. เป็นเวลา 15 วัน และให้เวลาเอกชนเสนอความเห็น ประมาณ 3 วัน จากนั้น รฟม.จะประมวลความเห็นและสรุปร่างเอกสารประกาศเชิญชวน (Request for Proposal : RFP) เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เห็นชอบร่าง RFP โดยคาดว่ากก.มาตรา 36 จะมีการประชุมในช่วงครึ่งหลังของเดือน มี.ค. และประกาศขายเอกสารได้ช่วงเดือน เม.ย. นี้
แผนงานใหม่นั้น รฟม.คาดว่าจะสรุปผลการประมูลและได้ตัวเอกชนในเดือน ส.ค. 2564 และนำเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป ซึ่งการลงนามสัญญากับเอกชนนั้นจะต้องรอให้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม (EIA) ได้รับการอนุมัติก่อนด้วย ซึ่งขณะนี้ รฟม.ได้เสนอรายงาน EIA ไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้ว ตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีนี้
@เห็นชอบพัฒนาเชิงพาณิชย์ท่าเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมสีม่วง
มีมติเห็นชอบให้ รฟม.นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการให้เช่าหรือให้สิทธิ์ใดๆ ในอสังหาริมทรัพย์ ในโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและเชิงพาณิชย์ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีพระนั่งเกล้า บริเวณท่าเรือฯ ใต้สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง คลองบางไผ่-บางซื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อ ล้อ ราง เรือ
ประกอบด้วย ท่าเรือฝั่งสะพานพระนั่งเกล้าและฝั่งไทรม้า พื้นที่ประมาณ 2,100 ตร.ม. มูลค่า 33 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.รฟม. มาตรา 45 (6) ถ้าการให้เช่าสิทธิ์เกิน 10 ล้านบาทต้องเสนอ ครม.เห็นชอบ ส่วนการก่อสร้างท่าเรือจะแล้วเสร็จเดือน เม.ย. เปิดใช้งานไม่เกินต้นเดือน พ.ค. 64
นอกจากนี้ บอร์ดเห็นชอบร่างข้อบังคับ รฟม. เรื่องการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .. ต้องเสนอ ครม.เห็นชอบก่อนจึงมีผลบังคับใช้เพื่อทดแทนข้อบังคับเดิมซึ่งจัดทำเป็นตารางกำหนดค่าจอดรถซึ่งใช้จนหมดแล้ว จำเป็นต้องทำตารางใหม่เพื่อใช้ในการประกาศปรับอัตราค่าจอดรถใหม่ และรองรับรถไฟฟ้าสายใหม่ในอนาคต สำหรับอัตราค่าจอดรถจะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ในเมืองจะสูงกว่าย่านเมือง ทั้งนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้วจะต้องเสนอบอร์ดพิจารณาการเลือกใช้ตารางอัตราค่าจอดรถแต่ละแนวสายทางรถไฟฟ้าอีกครั้ง
นอกจากนี้ บอร์ด รฟม.ได้มีมติเห็นชอบแผนกู้เงินของ รฟม.ในปีงบประมาณ 2565 เพื่อบรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะกระทรวงการคลัง วงเงิน 29,821.24 ล้านบาท แบ่งเป็น กู้เพื่อนำมาชำระหนี้ค่าก่อสร้างที่ครบกำหนด 18,791.03 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษา จำนวน 11,030.21 ล้านบาท และเห็นชอบขยายเวลาชำระคืนหนี้เงินกู้ค่าออกแบบและก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษา รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จากปี 2567 ไปถึงปี 2583 โดยมีวงเงินต้นและดอกเบี้ย 43,000 ล้านบาท โดยจะนำเสนอ ครม.เพื่อเห็นชอบกรอบดำเนินงาน