xs
xsm
sm
md
lg

สอน.จับมือซีแพคสร้างมิติใหม่ซื้อใบอ้อยป้อนโรงปูนช่วยเกษตรกรลดฝุ่น PM 2.5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สอน.” ลงนามร่วมกับซีแพค จัดซื้อใบและยอดอ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย ป้อนโรงปูนซีเมนต์เพื่อลดการเผาอ้อย เดินหน้าลด PM 2.5 เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรกว่า 150 ล้านบาท


นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี (SCG) ดำเนินโครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยทางบริษัทฯ จะรับซื้อใบและยอดอ้อยจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่เป้าหมายกว่า 17,000 ราย คาดว่าจะลดพื้นที่การเผาอ้อยได้กว่า 1,713,208 ไร่

“การซื้อใบอ้อย และยอดอ้อยยังสร้างรายได้ในระบบอุตสาหกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกว่า 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตัน โดยจะนำเศษวัสดุเหลือใช้จาก ไร่อ้อยไปเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)” นายกอบชัยกล่าว

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย สอน.จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อให้มีใบและยอดอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงการประสานเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือผู้ประกอบการที่รวบรวมใบอ้อยในพื้นที่เป้าหมาย 4 แหล่ง ได้แก่ อำเภอท่าหลวง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี รวมกว่า 17,000 ราย ในการจัดเตรียมพื้นที่กองเก็บก้อนม้วนเพื่อให้สามารถส่งโรงงานแปรรูป โดยซีแพคจะซื้อใบอ้อยจากพื้นที่เป้าหมาย ในราคา 200-1,500 บาทต่อตันอ้อย ตามปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อที่กำหนด

นายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ซีแพค กล่าวว่า ใน ความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด สร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 และมีแผนจะขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน 

สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 09-3542-4594
กำลังโหลดความคิดเห็น