ส.อ.ท.เตรียมหารือ “สมอ.-อย.” กำหนดมาตรฐานบังคับตู้เก็บวัคซีนรองรับไทยนำเข้าวัคซีนโควิด-19 และการส่งออกในอนาคต หลังคนไทยมีศักยภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลังผู้ผลิต 7 รายผนึกกำลังรัฐร่วมผลิตแล้วได้ราคาต่ำกว่านำเข้าเตรียมบริจาคล็อตแรก 21 ตู้ให้โรงพยาบาลรัฐ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ดำเนินโครงการ FTI ช่วยชาติสู้โควิด-19 โดยร่วมมือรัฐและเอกชนมอบตู้เก็บวัคซีนควบคุมอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ ให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีกำหนดส่งมอบล็อตแรก 21 สถานพยาบาลรัฐภายในเดือนก.พ.นี้ โดยตู้แช่ดังกล่าวเป็นความร่วมมือของสมาชิก ส.อ.ท.7 รายที่ได้ร่วมกันผลิตเพื่อบริจาคให้แก่รัฐ 77 จังหวัดตามแผนการจัดหาวัคซีนให้กับรัฐบาล โดยเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.จะหารือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตู้แช่วัคซีนเป็นมาตรฐานภาคบังคับ จากที่ขณะนี้เป็นมาตรฐานทั่วไปทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เป็นประเภทวัสดุทางการแพทย์ที่จะได้รับการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์มากกว่า
สำหรับผู้ผลิตตู้เก็บวัคซีนที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.และเป็นผู้ผลิตในไทยได้มีการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และคุณภาพกระบวนการผลิต จำนวน 7 ราย ได้แก่ บริษัท สยามอินเตอร์คูล จำกัด, บริษัท พัฒนาอินเตอร์คูล จำกัด, บริษัท ลัคกี้ สตาร์ ยูนิเวอร์แซล จำกัด, บริษัท ซันเด้น อินเตอร์คูล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เทอมีเดซ จำกัด, บริษัท สุปรีม ซี เอ็น บี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท สมาร์ท เฮลเทค จำกัด โดยได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐาน และผลิตตู้เก็บวัคซีนเพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตามแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่ต้องการให้คนไทยได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัยจาก COVID-19
“ส.อ.ท.ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อระดมทุนจัดหาตู้เก็บวัคซีน COVID-19 อีก 56 เครื่อง โดยสามารถบริจาคผ่านบัญชี “มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ” ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟควอเตอร์ เลขที่บัญชี 009-010-4080 หรือติดต่อสอบถาม โทรศัพท์ 08-6374-2522 และ 08-1354-7330” นายสุพันธุ์กล่าว
นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ระยะแรกจะส่งมอบภายในเดือนกุมภาพันธ์ ระยะที่ 2 และ 3 จะส่งมอบให้แก่สถานพยาบาล 56 แห่ง ภายในเดือนมีนาคม และเมษายน 2564 โดยตู้เก็บวัคซีน 21 ตู้ที่จะส่งมอบในระยะแรกเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 เครื่อง บริษัท สยามอินเตอร์คูล จำกัด จำนวน 5 เครื่อง และผู้ผลิตอีก 6 ราย รายละ 1 เครื่อง ส่วนอุปกรณ์ Monitoring ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โนวา กรีนฯ ร่วมกับ สวทช.
ทั้งนี้ ตลาดตู้แช่ที่ร่วมมือกันผลิตจะมีราคาเพียง 4.5 หมื่นบาท เทียบกับการนำเข้าจะอยู่ที่เกือบ 1 แสนบาทจะประหยัดได้มากซึ่งอนาคตหากไทยสนับสนุนให้เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจะสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายและส่งออกได้มากขึ้นจึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจไทย โดยตลาดตู้แช่ยาของไทยมีมูลค่าราว 400-500 ล้านบาทต่อปี
นางสุภาณี จันทศาศวัต ประธานกลุ่มอุตฯ เครื่องปรับอากาศ ส.อ.ท. กล่าวว่า โครงการ FIT ช่วยชาติสู้โควิด-19 ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญจากรัฐและเอกชนมาร่วมกำหนดมาตรฐานตู้เก็บวัคซีนที่เหมาะสมกับไทยเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับไทยต่อไป ในส่วนการทดสอบนั้นได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ทดสอบชั้นนำของประเทศ 5 แห่ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คือ EEI, PTEC, UL, ITS, SGS ถือเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดหาตู้เก็บวัคซีน COVID-19 ที่มีคุณภาพเพียงพอต่อความต้องการของสถานพยาบาล และเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี