“ศักดิ์สยาม” ดันใช้ระบบรถโดยสารประจำทางไฟฟ้า (ART) ที่ภูเก็ต ชี้ลงทุนน้อย กำหนดค่าโดยสารได้ถูก อนาคตผู้โดยสารเพิ่มค่อยขยายระบบ ดีกว่าลงทุนเกินความจำเป็น ด้าน รฟม.เตรียมหารือผู้ว่าฯ ภูเก็ตปลาย ก.พ.นี้ กางต้นทุน รถแทรมป์ 3.3-3.5 หมื่นล้าน ขณะที่ ART แค่ 1.7 หมื่นล้าน เร่งสร้างเปิดปี 70
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ว่าจากที่ได้มีข้อสั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีรถไฟฟ้า เพิ่มเติมและพิจารณากรอบระยะเวลาในการดำเนินโครงการและทบทวนผลการศึกษาใหม่ เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดค่าโดยสารที่ถูกลง นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนในภูมิภาคเป็นระบบล้อยางทั้งหมด เพราะต้องการประหยัดค่าลงทุน และทำให้ค่าโดยสารถูกที่สุด โดยหากในอนาคตปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจนเพียงพอและมีความเหมาะสมค่อยปรับรูปแบบไปรองรับได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการลงทุนมาเกินความจำเป็น และเป็นภาระแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ
แต่เนื่องจากมีข้อเสนอจากทางจังหวัดภูเก็ตที่ต้องการใช้รูปแบบแทรมป์ล้อเหล็กตามการศึกษาเดิม ดังนั้นจึงให้ รฟม.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งประชุมร่วมกับจังหวัดภูเก็ตในเรื่องต้นทุนและค่าโดยสาร ระหว่างรถแทรมป์ล้อเหล็ก ระบบ ART เพื่อให้ได้ข้อยุติใน 1 เดือน โดยเฉพาะกับระบบแทรมป์ว่าจะรับภาระได้แค่ไหน
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า อยู่ระหว่างประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะสามารถประชุมร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องตามนโยบายได้ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. มีจำนวน 21 สถานี เป็นสถานียกระดับ 1 สถานี สถานีใต้ดิน 1 สถานี และสถานีระดับดิน 19 สถานี โดยเปรียบเทียบกรอบวงเงินลงทุนของ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรมป์) วงเงินรวม 35,201 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 24,774 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,921 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 1,065 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,428 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง (แทรมป์) วงเงินรวม 33,600 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,499 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 22,339 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,514 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 3,955 ล้านบาท (3 คัน/ขบวน มี 22 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 990 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,363 ล้านบาท
3. รถโดยสารประจำทางอัจฉริยะ (ART) วงเงินรวม 17,754 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 1,447 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 10,861 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้า 3,000 ค่าจัดหาขบวนรถเริ่มต้น 1,236 ล้านบาท (มี 44 ขบวน) ค่าที่ปรึกษา 518 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 692 ล้านบาท
ขณะที่พบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตลอดระยะ 30 ปี แทรมป์ล้อเหล็ก อยู่ที่ 25,839 ล้านบาท แทรมป์ล้อยางอยู่ที่ 28,026 ล้านบาท และ ART 25,580 ล้านบาท
สำหรับผลการศึกษาแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP แทรมป์ล้อเหล็ก มีค่าลงทุนงานโยธา 26,809 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างและดอกเบี้ยระหว่างชำระคืน 10 ปี รวมเป็นเงินที่รัฐต้องชำระคืนค่างานโยธา 32,991 ล้านบาท, แทรมป์ล้อยาง มีค่าลงทุน 24,175 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างและดอกเบี้ยระหว่างชำระคืน 10 ปี รวมเป็นเงินที่รัฐต้องชำระคืนค่างานโยธา 29,770 ล้านบาท ส่วน ART มีค่าลงทุน 11,754 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างและดอกเบี้ยระหว่างชำระคืน 10 ปี รวมเป็นเงินที่รัฐต้องชำระคืนค่างานโยธา 14,490 ล้านบาท
ส่วนกรอบเวลาดำเนินงาน กรณีใช้แทรมป์ล้อเหล็กเหมือนเดิมจะเปิดประมูลใน ก.พ. 2565 และเปิดให้บริการใน ก.ค. 2569 กรณีใช้รายงาน PPP ใช้แทรมป์ล้อเหล็ก แต่กำหนด RFP เปิดกว้างให้เอกชนสามารถเสนอเป็น ART ได้ จะประมูลได้ใน ส.ค. 2565 แล้วเสร็จเปิดให้บริการ ม.ค. 2570 แต่หากศึกษาออกแบบระบบ ART ใหม่ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ ก.พ.2567 แล้วเสร็จเปิดให้บริการ ต.ค. 2570