xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอลุ้นปี 64 ยอดขอรับส่งเสริม 4-5 แสนล้านบาท รับปัจจัยเสี่ยงยังมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“บีโอไอ” เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2563 พบมีจำนวนยื่นขอ 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท ขณะที่การลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ญี่ปุ่นครองแชมป์ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุด ยอมรับปี 2564 ไม่ตั้งเป้าหมายเพราะมีปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้เพียบแต่ยังหวังยอดยื่นลงทุนจะอยู่ระดับ 4-5 แสนล้านบาท


นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด) บีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ได้รายงานถึงภาพรวมการลงทุนในปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท โดยหากเทียบกับปี 2562 พบว่าจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 13% แต่มูลค่าลงทุนลด 30% เนื่องจากในปี 2562 มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีมูลค่าสูงถึง 162,320 ล้านบาท และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากตัดโครงการรถไฟฯนับว่ามูลค่าการลงทุนใกล้เคียงกับปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บีโอไอคาดว่ายอดการขอรับส่งเสริมฯจะไม่น้อยไปกว่าปี 2563

“ปี 2564 เราไม่ตั้งเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริมฯ เพราะมีปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้มากอยู่ทั้งโควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน เศรษฐกิจโลก แต่ก็มองว่าทิศทางขอส่งเสริมฯ 4-5 แสนล้านบาท และยังคงเน้นให้ส่งเสริมธุรกิจที่มีเทคโนโลยี BCG ตามนโยบายนายกฯ ที่จะมีมากขึ้น รวมถึงการให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน” น.ส.ดวงใจกล่าว

สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2563 เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท 2) การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท 3) ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท 4) ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และ 5) เทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่น่าจับตา ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปีมีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน โดยมีจำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 177% ขณะที่มูลค่าลงทุนรวม 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165%

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน จำนวน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท โดยจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชีย คือ การมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน วัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania ของ JETRO ปี 2562 ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศไทยในระดับสูงกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC มีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 226 โครงการ มูลค่าลงทุน 67,190 ล้านบาท จังหวัดระยอง 175 โครงการ มูลค่าลงทุน 115,870 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 52 โครงการ มูลค่าลงทุน 25,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค บริการพื้นฐานและการขนส่ง เป็นต้น

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 423 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ เช่น การผลิตถุงมือทางการแพทย์ และการผลิตอาหาร เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น