xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยแนะธุรกิจปรับตัวรับกระแสกรีน คาดต้องใช้เม็ดเงินลงทุน 8.2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยระบุนอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศทั่วโลกอย่างกว้างขวางแล้ว การปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ ภายใต้แรงกดดันจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้นในระยะข้างหน้า พร้อมทั้งยกระดับความสามารถในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป คาดภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้าหรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี


นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย(KTB)เปิดเผยว่า ในขณะที่ภาคธุรกิจทุ่มเทสรรพกำลังในการพลิกฟื้นจากผลกระทบของวิกฤต Covid-19 ให้ได้โดยเร็ว แต่ก็ต้องไม่ลืมหันมาเตรียมพร้อมกับ New Normal ด้วยเช่นกัน โดยเทรนด์ที่เด่นชัดคือการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับ 3 กระแสเปลี่ยนโลก ได้แก่ หนึ่ง การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเห็นได้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เริ่มตั้งเป้าหมาย Less to zero กันบ้างแล้ว และยังต้องมองต่อไปถึงการจูงใจให้ซัพพลายเชนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ๆมาเข้าสู่ระบบด้วย

สอง การพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ซึ่งในส่วนนี้ประเทศไทยถือว่ายังทำได้ไม่ดี มีสัดส่วนทรัพยากรที่ยังไม่ได้นำกลับมาใช้ถึง 91%และมีแนวโน้มมากขึ้น ดังนั้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของภาคเศรษฐกิจและเอกชนที่จะหาช่องทางนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่ามากขึ้น และสามการประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อยกระดับศักยภาพของธุรกิจ ซึ่งการลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) คาดว่าจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มอย่างน้อย 8.2 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้าหรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี ซึ่งจะทำให้สัดส่วนเงินลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 4% จากระดับปัจจุบัน

"เรื่องการปรับตัวตามกระแสกรีนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว หากธุรกิจไทยไม่ปรับตัวให้สามารถเข้าสู่หลักเกณฑ์ใหม่ของคู่ค้าต่างๆที่เริ่มจะมีความเข้มงวดในการใช้กระบวนการผลิตสินค้าต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตก็จะต้องประสบกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาษีคารบอนหรืออื่นๆ รวมทั้งจะทำให้เราสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันก้บคู่ค้า และกระทบต่อการส่งออกของไทยในที่สุด"


นายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ได้ดำเนินมาตรการภาคบังคับด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาตรฐานการระบายไอเสียของรถยนต์ เป็นต้น และล่าสุดสหภาพยุโรปได้ร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เพื่อปรับราคาของสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าที่สูงกว่าการผลิตในสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยหากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญในหลายประเภทอุตสาหกรรม เช่น เกษตรกรรมและอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก พลังงาน ซึ่งทั้ง 5 สินค้านี้ มีมูลค่าการส่งออกโดยรวมสูงถึง 50%ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม

“หากผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและดิจิทัล ก็จะสร้างประโยชน์แบบ win-win โดยจะช่วยให้ประเทศไทยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของตน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของภาคธุรกิจในระยะยาว”


กำลังโหลดความคิดเห็น