“วีรศักดิ์” ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัดช่วยผู้ประกอบการในจังหวัดอุบลราชธานีแก้ปัญหาการค้าชายแดน ดันสินค้าเกษตร ประมง ขาย สปป.ลาว สั่งหาทางลดต้นทุนการผลิตโคเนื้อให้ชาวศรีสะเกษ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมเดินหน้าช่วยสร้างอัตลักษณ์สินค้า พัฒนานวัตกรรม เพิ่มรายได้ให้ชุมชน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 4-5 ก.พ. 2564 ว่า ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เพื่อติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีพบว่ามีการปิดทำการด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนการค้าทุกจุดเป็นการชั่วคราว ยกเว้นจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็กเพียงจุดเดียวที่ยังคงสามารถเปิดทำการเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าได้ ซึ่งก็มีปัญหาผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรและประมงออกไปจำหน่ายได้ ทำให้ได้รับผลกระทบ
“ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเร่งประสานงานไปยังฝ่าย สปป.ลาว เพื่อพูดคุยแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ก่อน หากไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัด และต้องการการสนับสนุนในระดับกระทรวงหรือระดับรัฐบาล ก็ขอให้เสนอเข้ามาเพื่อนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป”
ทั้งนี้ ยังสั่งการให้ทำแผนจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้เร็วขึ้น หลังพบว่าจังหวัดอุบลราชธานียังเบิกจ่ายงบประมาณไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ล่าช้า
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำร่องลดต้นทุนการผลิตภาคเกษตร โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อลงให้ได้ 40% หลังพบว่าเกษตรกรยังมีปัญหาต้นทุนสูง ขาดความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ การเลี้ยง การจัดการ การป้องกันโรค และที่สำคัญคือ ขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ทำให้ได้ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงโคลดลง และยังพบว่ามีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งทางจังหวัดได้เสนอแผนการแก้ไขปัญหาไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว
“ได้รับปากจะเร่งผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำของจังหวัดศรีสะเกษในระดับนโยบาย เพราะน้ำเป็นต้นทุนของทุกชีวิต โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง หากไม่มีน้ำเพียงพอหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน หอมแดง และพืชเกษตรอื่นๆ จะกระทบต่อรายได้เกษตร และภาคอุตสาหกรรม จึงต้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม” นายวีรศักดิ์กล่าว
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า ยังได้กำชับที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยระดับจังหวัด ทั้ง จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษว่าจะต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในทุกๆ มิติ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาโควิด-19 ระบาดระลอก 2 พร้อมต้องทำแผนช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เศรษฐกิจของจังหวัดฟื้นตัวอย่างชัดเจน เช่น การลดต้นทุนการผลิต การสร้างอัตลักษณ์สินค้าชุมชน และการสร้างนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน และยังสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal และ Next Normal ที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพอนามัยมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน และคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด เพื่อกำกับ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ โดยเริ่มจากปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนเร่งด่วน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วทันเหตุการณ์ และยังได้แต่งตั้งรัฐมนตรีให้กำกับดูแลในแต่ละจังหวัด โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบจังหวัดอุบลราชธานีกับศรีสะเกษ