กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ SCC จับมือสตาร์ทอัพผุดโรงงานสาธิตรีไซเคิลพลาสติก (Chemical Recycling) ขนาดกำลังผลิต 4 พันตันต่อปี โดยนำพลาสติกใช้แล้วมาผ่านกระบวนการเป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อใช้ในโรงงานปิโตรเคมี SCC ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานสาธิตสำหรับการรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี (Chemical Recycling) แล้วเสร็จ มีกำลังการผลิต 4 พันตัน/ปี โดยโรงงานดังกล่าวเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Renewable Feedstock) ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะ ซึ่ง Renewable Feedstock นำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ของบริษัทในธุรกิจเคมิคอลส์ของ SCC นับเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่นำพลาสติกใช้แล้วมาผ่านกระบวนการนำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ (Virgin Plastic Resin) ตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก คาดว่าภายใน 3-6 เดือนจะมีความชัดเจนในการพัฒนาโรงงานเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ โรงงานสาธิตนี้อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทเซอร์คูลาร์ พลาส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัทเร็ปโกเมนเทนแนนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในธุรกิจเคมิคอลส์ที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมดและบริษัทจีอาร์ดีเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทย มีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างร้อยละ 60:40 ตามลำดับ ทุนจดทะเบียน 165 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งในปี 2564 ได้วางโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไว้ 4 ด้านหลัก คือ 1. การพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก และโซลูชัน โดยออกแบบให้สามารถรีไซเคิลได้ง่าย (Design for Recyclability) โดยยังคงคุณสมบัติด้านอื่นๆ ไว้อย่างครบถ้วน
2. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง หรือ PCR (Post-Consumer Recycled Resin) 3. การนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับธุรกิจปิโตรเคมี (Chemical Recycling) และ 4. การพัฒนานวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)
โรดแมปที่วางไว้ครอบคลุมตลอด Supply Chain นั่นคือ ตั้งแต่การออกแบบเม็ดพลาสติกให้ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ยังคงมีประสิทธิภาพ จนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก
“ในเบื้องต้น ธุรกิจเคมิคอลส์ได้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติกที่เป็น Advanced Technology ใช้สารเร่งปฏิกิริยาทำให้กระบวนการรีไซเคิลมีอุณหภูมิต่ำ จึงช่วยลดการใช้พลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณโรงงานจังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต Renewable Feedstock ประมาณ 4,000 ตันต่อปี และพร้อมที่จะขยายกำลังผลิตในอนาคต”