xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” สั่งลุยพัฒนารถขนส่งสาธารณะใช้ EV เร่ง ขบ.หามาตรการภาษีจูงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เดินหน้าพัฒนารถขนส่งสาธารณะเป็นไฟฟ้า (EV) สั่ง ขบ.ดูมาตรการภาษีรถจูงใจ ด้านสนข.เผยผลศึกษาแนะรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่เปลี่ยนจากน้ำมันดีเซลเป็นไฟฟ้า มี EIRR สูงที่สุด ประหยัดพลังงาน และแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ยั่งยืน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเรื่อง การพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้าผ่านระบบทางไกล VDO CONFERENCE ว่า ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มในด้านพลังงานของประเทศไทย ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการนำเสนอการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ จึงได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ได้แก่

1. มอบกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดอัตราภาษีรถยนต์ โดยส่งเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น 1. กำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และขนาดของเครื่องยนต์ (cc) 2. ยกเว้นภาษีประจำปี 3-5 ปีแรก สำหรับรถไฟฟ้า (BEV)

2. มอบกรมเจ้าท่า (จท.) พัฒนาและส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครอบคลุมทั้งมิติ การขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยว ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล

3. มอบกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดดำเนินการในการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล

4. มอบ สนข.ประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นให้ประสานกระทรวงพลังงานในการเตรียมความพร้อมและสำรวจปริมาณความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยหน่วยงานของภาครัฐควรมีการบูรณาการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการฯ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รายงานถึงสถานการณ์ของประเทศไทยด้านพลังงานว่า ในช่วงปี 2539-2562 ประเทศไทยมีแนวโน้มในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาขนส่งและสาขาอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคขนส่ง พบว่ามีสัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงถึง 94.8% (โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว : HSD ประมาณ 15,000 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)) รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ 5.09 และไฟฟ้า 0.059 ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น สาขาขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมพลังงาน โดยการขนส่งทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 97.59% รองลงมาคือ การขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง ตามลำดับ

เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล พบว่าสัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากไอเสียดีเซลและการเผาชีวมวล ซึ่งแนวทางการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (2561-2580) อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Transport Development) ตามแนวคิด Sustainable Transport Development หรือ A-S-I Approach ที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงยานพาหนะสำหรับการเดินทางให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ

สำหรับการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า สนข.ได้ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญของประเภทยานพาหนะ โดยใช้มูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ หรือ EIRR พบว่า รถบรรทุก และรถโดยสารขนาดใหญ่มีมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่สูงที่สุด ที่ 1.2 % -1.47 % ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อจำกัดต่างๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ระยะทางเดินรถ น้ำหนักและแบตเตอรี่ รวมทั้งความเหมาะสมในการใช้งาน

ในเบื้องต้นพบว่ารถโดยสารระหว่างเมืองระยะทางวิ่งประมาณ 200-250 กม./เที่ยว และรถโดยสารสาธารณะในเมืองมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเป็นลำดับแรก และควรมีมาตรการผลักดันและช่วยเหลือจากภาครัฐตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย

1. การส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการแบตเตอรี่ผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

2. ยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของเซลล์แบตเตอรี่ ให้ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับการส่งเสริมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

3. กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า

4. การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม

5. การเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน กฎ ระเบียบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น