“พาณิชย์” ปรับปีฐาน “เงินเฟ้อ” และ “ดัชนีราคาผู้ผลิต” ใหม่เพื่อให้สะท้อนพฤติกรรมการบริโภค และการผลิต เผยปรับปรุงสัดส่วนรายได้ใหม่ ลดครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มสินค้าในตะกร้าเป็น 430 รายการ มีหน้ากากอนามัย อาหารธัญพืช ที่ย้อมผม อาบน้ำสัตว์ ยาหม่อง ยาหอม เป็นสินค้าใหม่ และทำเงินเฟ้อชุดผู้มีรายได้น้อย หวังให้รัฐใช้เป็นข้อมูลช่วยเหลือ
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับปีฐานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) โดยจะใช้ปีฐานใหม่ ซึ่งปกติต้องปรับทุก 4-5 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยได้มีการกำหนดรายละเอียดให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค และจะสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น เพราะมีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
สำหรับเงินเฟ้อ ได้ปรับใช้ปีฐาน 2562 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศเสร็จ และเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต จะใช้ตาราง Input-Output ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2558 เป็นฐาน เพราะเป็นข้อมูลล่าสุด
ทั้งนี้ การปรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่มีประเด็นที่สำคัญ เช่น ครอบคลุมครัวเรือนที่มีรายได้ 6,987-50,586 บาทต่อเดือน จากเดิม 12,000-62,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของครัวเรือนทั่วประเทศ จากเดิมร้อยละ 29 รวมค่าใช้จ่ายไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.19 จากเดิมร้อยละ 30 ลดสัดส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงเป็นร้อยละ 22 จากเดิมร้อยละ 42 และปรับรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อเป็น 430 รายการ จากเดิม 422 รายการ โดยมีรายการใหม่ เช่น หน้ากากอนามัย อาหารจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ผลิตภัณฑ์รองพื้น ค่าอาบน้ำและตัดแต่งขนสัตว์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ยาขับลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับเงินเฟ้อของกลุ่มนอกเขตเทศบาล ชุดผู้มีรายได้น้อย และชุดรายจังหวัดให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณและปีฐานใหม่ โดยเงินเฟ้อชุดผู้มีรายได้น้อยจะปรับมาใช้นิยามของนโยบายรัฐบาล คือ เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือไม่เกิน 22,665 บาทต่อครัวเรือน/เดือน หรือ 8,333 บาท/คน/เดือน (เฉลี่ยครัวเรือนละ 2.72 คน) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ชัดเจนขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลต่อไป
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ได้เปลี่ยนจากปีฐาน 2553 เป็นปีฐาน 2558 (ใช้ข้อมูลน้ำหนักโครงสร้างจากตาราง I/O ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยมีการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหมวด/หมู่/รายการสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีความสอดคล้องกับการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในการนำข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตไปใช้ในการวิเคราะห์ กำหนด และวางแผนนโยบายด้านการค้าร่วมกับเครื่องชี้วัดด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ปรับปรุงรายการสินค้าและสัดส่วนความสำคัญของสินค้าให้มีความทันสมัยตามโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ปีฐาน 2558 มีจำนวนรายการสินค้าทั้งสิ้น 501 รายการ
“การปรับปรุงปีฐานของทั้ง 2 ดัชนีในครั้งนี้ ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2563 ทั้งในด้านวิธีการคำนวณ การคัดเลือกสินค้าและบริการลงตะกร้าการคำนวณ และการกำหนดขอบเขตกลุ่มตัวอย่าง จึงมั่นใจว่าเครื่องชี้วัดด้านราคาชุดนี้จะสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการบูรณาการเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในระดับโครงสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยดัชนีปีฐานใหม่ทั้ง 2 ชุดจะเริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ก.พ. 2564” นางพิมพ์ชนกกล่าว