xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.แจงปมค่าโดยสารสีส้ม 62 บาท ชี้เป็นฐานประมูล เปิดจริงเก็บ 15-45 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟม.โต้ “สามารถ” แจงค่าโดยสารสีส้ม 17-62 บาทเป็นสมมติฐานอ้างอิงเอกสารประมูล เผยต้องเจรจากับเอกชนอีก เผยเปิดส่วนตะวันออกปี 67 เก็บจริง 15-45 บาท อนาคตทำระบบร่วมเดินทางข้ามสาย จ่ายค่าแรกเข้าแค่ครั้งเดียว

วันนี้ (25 ม.ค.) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวจากสื่อหลายแห่งเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2564 ที่อ้างอิงข้อความใน Facebook ของนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ระบุว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียว ที่กระทรวงคมนาคมแย้งว่าแพง” ซึ่งเป็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 17-62 บาท นั้น เบื้องต้นอัตราค่าโดยสารข้างต้นยังไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม.จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการเนื่องจากจะต้องมีการเจรจากับเอกชนผู้ชนะการประมูลก่อน

ซึ่งในเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (Request for Proposal : RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ระบุอัตราค่าโดยสารพื้นฐานอ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 เริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาท/สถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารที่ใช้ในการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ (รายงาน PPP) ของ รฟม.ที่มีสมมติฐานกำหนดเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2566-2567 โดยคำนวณตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization

การกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ใน RFP เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้เอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้เพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการฯ ซึ่ง รฟม.จะประเมินข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายบนบรรทัดฐานเดียวกันได้อย่างชัดเจน และจะมีการเจรจากับเอกชนผู้ผ่านการประเมินสูงสุด เพื่อปรับลดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และประชาชนยอมรับได้ (Willingness to pay)

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ในปี 2567 (โดยใช้สมมติฐานที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2% ต่อปี) จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และสูงสุดที่ 45 บาท คาดปริมาณผู้โดยสารประมาณ 1 แสนคน/วัน และเปิดตลอดสาย จากบางขุนนนท์-มีนบุรี ปี 2569 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 4 แสนคน/วัน

ปัจจัยในการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น ได้แก่ พฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร ระยะเดินทางเฉลี่ย ความเต็มใจในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน (Willingness to pay) เป็นต้น ซึ่งสายสีส้มใช้ค่าโดยสารพื้นฐานของสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่ประชาชนยอมรับได้มาเป็นฐานในการกำหนดค่าโดยสารสีส้ม ณ ปีเปิด

ส่วนกรณีที่ระบุรถไฟฟ้าสายสีเขียวค่าโดยสารสูงสุดที่ 104 บาท โดยพิจารณาเทียบกับระยะทาง 84 กม. คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 1.23 บาท/กม. จึงอาจไม่ได้สะท้อนค่าโดยสารจริงที่ประชาชนพึงพอใจในการจ่ายค่าเดินทาง เพราะไม่ได้นำปัจจัยด้านพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารมาประกอบการพิจารณาด้วย

ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ในอนาคตกรณีเดินทางข้ามสายรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม.รับผิดชอบ จะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวซึ่งเป็นเป้าหมายของ รฟม. ซึ่งจะมีการเจรจากับเอกชนเพื่อกำหนดเป็นอัตราค่าโดยสารร่วมทั้งระบบต่อไป (Common Fair) โดยสีชมพู และสีเหลืองกำหนดค่าโดยสารที่ 15-45 บาทในปีเปิด หรือเฉลี่ย 2-3 บาท/สถานี

ทั้งนี้ ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นอัตราค่าโดยสารจึงควรเป็นอัตราที่เหมาะสมและประชาชนยอมรับได้ นอกจากนี้ กิจการรถไฟฟ้าไม่ใช่กิจการที่ภาครัฐลงทุน โดยโครงการต้องมีความคุ้มทุน หรือเป็นกิจการที่ภาครัฐมุ่งทำกำไรเป็นหลัก จึงสมควรที่จะพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสารอย่างรอบคอบ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนการใช้รถส่วนตัว ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว ยังจะสามารถช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่หนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันได้ด้วย

@คาดหลังมีคำสั่งศาล ประเมินข้อเสนอสีส้มเสร็จใน 2 เดือน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยังมีกรณีฟ้องร้องนั้น นายภคพงศ์คาดว่า เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาจะสามารถเร่งรัดขั้นตอนการพิจารณาประเมินข้อเสนอได้เรียบร้อย ภายใน 2 เดือน หรือในเดือน มี.ค. เนื่องจากมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 2 ราย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)


กำลังโหลดความคิดเห็น