xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.จัดให้! ตั๋วเที่ยว MRT สีน้ำเงินสุดคุ้ม ใช้เชื่อม “ม่วง” จ่ายแค่ 45 บาท เริ่ม 1 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟม.เคาะออกตั๋วเที่ยว MRT สายสีน้ำเงิน เฉลี่ย 25-30 บาท/เที่ยว และออกตั๋วเที่ยวใช้ร่วม สีน้ำเงินต่อสีม่วง เหลือราคาเฉลี่ย 45-54 บาท/เที่ยว ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ยอมรับโควิดระลอกใหม่กระทบหนัก ผู้โดยสารหาย 50%

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วันที่ 20 ม.ค. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการออกตั๋วเที่ยวสำหรับโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) หรือ Blue Line Pass : BL Pass และตั๋วเที่ยวสำหรับโดยสารร่วม สายสีน้ำเงินและสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) หรือ Multiline Pass : ML Pass โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2564

โดยตั๋วเที่ยวสายสีน้ำเงิน (Blue Line Pass) มีเงื่อนไขใช้เดินทางภายใน 30 วัน โดยเที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ราคา 450 บาท, เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ราคา 700 บาท, เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาท, เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท

ซึ่งสายสีน้ำเงินอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยสายสีน้ำเงินอยู่ที่ 35 บาทต่อเที่ยว โดยตั๋วเที่ยวจะมีอัตราเฉลี่ยต่ำสุดที่ 25 บาท สูงสุด 30 บาท

ส่วนตั๋วเที่ยว 2สาย (Multiline Pass : ML Pass) มีเงื่อนไขใช้เดินทางภายใน 30 วัน โดยเที่ยวโดยสาร 15 เที่ยว ราคา 810 บาท, เที่ยวโดยสาร 25 เที่ยว ราคา 1,300 บาท, เที่ยวโดยสาร 40 เที่ยว ราคา 2,000 บาท, เที่ยวโดยสาร 50 เที่ยว ราคา 2,250 บาท
หรือมีอัตราเฉลี่ยต่ำสุดที่ 45 บาท สูงสุด 54 บาท

หากเปรียบเทียบกับปัจจุบันกรณีเดินทางสีม่วงจ่ายที่ 20 บาท (โปรโมชั่น) ต่อเชื่อมสีน้ำเงินจ่ายที่ 42 บาท โดยจะได้รับส่วนลดค่าแรกเข้าที่ 14 บาท ทำให้ค่าโดยสารสูงสุดที่ 48 บาท แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 64 เป็นต้นไป สายสีม่วงจะเริ่มใช้ตั๋วเที่ยว จะคิดค่าโดยสารตามเงื่อนไขตั๋วเที่ยว กรณีที่ใช้เหรียญโดยสารสายสีม่วง สู'สุดที่ 42 บาท ต่อสีน้ำเงินอีก 42 บาท โดยไม่คิดค่าแรกเข้าที่ 14 บาท ดังนั้น หากใช้เหรียญโดยสารจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท

ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ตั๋วเที่ยวจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางประจำ ซึ่ง รฟม.เคยมีตั๋วเที่ยวใช้เมื่อปี 58 และยกเลิกไปเมื่อ ส.ค. 60 ครั้งนี้ถือเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่การเดินทางข้ามสายสีม่วงกับสีน้ำเงิน จะใช้ปริมาณผู้โดยสารครบปีมาพิจารณาส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานในปีนั้น

ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสาร MRT สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) เฉลี่ยอยู่ที่ 170,000-180,000 คน/วัน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เหลือ 90,000 คน ลดจากช่วงก่อนโควิดระลอกใหม่ที่มีถึง 390,000 คน ส่วน MRT สายสีม่วง มีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000 คน/วัน วันเสาร์-อาทิตย์ 9,000 คน ลดลงจากช่วงก่อนโควิดระลอกใหม่ที่มีเกือบ 60,000 คน

“ปัจจุบันมีเรื่องโควิด สถานการณ์ไม่ปกติ ข้อมูลจำนวนผู้โดยสารอาจจะไม่นิ่ง การใช้อัตราค่าโดยสารตั๋วเที่ยวจึงนำข้อมูลเดิมที่เคยใช้ตั๋วเที่ยวเมื่อปี 60 มาปรับใช้ก่อน ซึ่งยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บ้าง แต่คาดหวังว่าสถานการณ์โควิดจะดีขึ้นในอนาคต”

ปลื้ม คว้ารัฐวิสาหกิจผลดำเนินงานอันดับ 1

นอกจากนี้ รฟม.ได้รายงานผลการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตามนโยบาย ประจำปี 2562 ซึ่งสำนักงานคณกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประกาศผลแล้วต่อที่ประชุมบอร์ด รฟม. โดย รฟม.ได้รับการจัดอันดับที่ 1 โดยได้รับคะแนน 4.7998 จากคะแนนเต็ม 5 ส่วนอันดับ 2 เป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อันดับ 3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อันดับ 4 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อันดับ 5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


กำลังโหลดความคิดเห็น