xs
xsm
sm
md
lg

EA ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 20%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พลังงานบริสุทธิ์” เผยปี 64 วางงบลงทุนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้เป็นทุนหมุนเวียน และมีงบลงทุนข้ามปีที่ต้องจ่ายในปีนี้อีก 3.7 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ปีนี้ตั้งเป้าโต 20% มาจากธุรกิจอีวีหลังโรงงานแบตเตอรี่และโรงประกอบรถอีวีผลิตเชิงพาณิชย์ได้

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำประมาณการเงินลงทุนปี 2564 เบื้องต้นมีงบลงทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วทั้งจากโครงการผลิตแบตเตอรี่ และโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าราว 3.7 พันล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ในปีนี้เป็นเงินลงทุนหมุนเวียน คาดว่าทั้งปีใช้เงินลงทุนต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพราะหากมี M&A บริษัทก็มีศักยภาพที่จะจัดหาเงินลงทุนเพิ่มเติม

ปัจจุบันกระแสเงินสดในมือไม่ต่ำกว่า 4-5 พันล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) เกือบ 2 เท่า มีหนี้ที่มีดอกเบี้ยคงค้างประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยกว่า 3% ต่อปี ถือว่ามีต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างต่ำ แต่บริษัทฯ ก็มองโอกาสการปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่ในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ และหลายโครงการก็เปิดดำเนินการแล้ว โดยเตรียมรีไฟแนนซ์หนี้อาจเป็นการเจรจากับเจ้าหนี้รายเดิมเพื่อลดดอกเบี้ย หรือการออกหุ้นกู้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

นายอมรกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตจากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังจากที่โรงงานแบตเตอรี่ระยะแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 นี้ช่วยสร้างเติบโตของธุรกิจในเครือฯ จากการนำแบตเตอรี่มาใช้ในการผลิตทั้งในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีคำสั่งซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถที่เกี่ยวการขนส่งสาธารณะอยู่ในมือประมาณ 400-500 คัน บางส่วนมีการเซ็นสัญญาไปแล้วและบางส่วนอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/2564

บริษัทฯ สนใจที่จะผลิตรถเมล์ไฟฟ้า ป้อนให้กับผู้ที่เข้าร่วมประมูลรถเมล์ไฟฟ้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2,500 คันด้วย ส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องชะลอแผนออกไปบ้าง หลังจากที่กลุ่มสหกรณ์แท็กซี่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ด้านเรือไฟฟ้าคาดว่าจะส่งมอบให้ครบ 27 ลำภายในปลายเดือน มี.ค.ตามเป้าหมาย หลังจากที่ได้เปิดทดลองให้บริการแล้ว 3 ลำโดยไม่เก็บค่าโดยสารจนถึงวันที่ 14 ก.พ. 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บค่าโดยสาร ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ส่วนนี้เข้ามาด้วย

ดังนั้น ในปีนี้สัดส่วนรายได้จะปรับเปลี่ยนไป จากเดิมที่มาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า 60% ก็จะเหลือ 50%, ธุรกิจไบโอดีเซล (B100) จากเดิม 40-45% ก็จะเหลือ 30-35% และที่เหลือ 10-20% มาจากธุรกิจอีวี

ส่วนการขยายกำลังการผลิตของโรงงานแบตเตอรี่ให้เต็มกำลังที่ 50 GWh นั้น ยังต้องรอดูนโยบายของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้รถอีวีมากน้อยแค่ไหน หากมีความชัดเจนมากขึ้นก็จะมองโอกาสการขยายต่อไป แต่หากตลาดเติบโตช้าการขยายก็อาจจะขยายไม่มากนัก ขณะที่กำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GWh จะใช้รองรับสำหรับการผลิตธุรกิจของบริษัทเท่านั้น

นายอมรกล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจไฟฟ้านั้น บริษัทฯ เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ครบทั้ง 6 โครงการแล้ว กำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งการจะเติบโตมากกว่านี้จะต้องมองหาโครงการใหม่ๆ โดยยอมรับว่าขณะนี้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่สูงเหมือนในอดีต โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8-10% โดยโครงการในประเทศก็จะเป็นเพียงโครงการขนาดเล็ก ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการในต่างประเทศ ขนาดต้องมากกว่า 100 เมกวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทก็ไม่ได้ปิดกั้นในส่วนของการซื้อกิจการ (M&A) หรือการเข้าประมูลในโครงการใหม่ๆ ในประเทศ แต่ต้องดูเงื่อนไขที่ตอบโจทย์การลงทุนด้วย

“ธุรกิจโรงไฟฟ้าเดี๋ยวนี้ไม่ได้เซ็กซี่เหมือนอดีต รีเทิร์นไม่สูงมาก ทุกคนรับรู้แล้ว ทั้งในส่วนของเงินลงทุน ความผันผวนไม่เยอะ รีเทิร์นตลาดให้ 8-10% ถ้าในประเทศได้มา 20-30 เมกะวัตต์ ก็ไม่ได้กระทบกำไรเลย เพราะฐานเราใหญ่แล้วปีละ 6 พันล้านบาท กำไรเพิ่มปีนึง 100 ล้านบาทไม่มีผลกระทบต่อ Bottom line แต่ตัวที่เป็นอนาคตเป็นอีวีเป็นหลัก ถามว่าทิ้งไหม ธุรกิจเดิมเราไม่ทิ้ง แต่ต้องคัดเลือกอย่างระมัดระวัง” นายอมรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น