xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC สบช่อง ศก.หดจากพิษโควิด ลุย M&A ธุรกิจปลายน้ำในปีนี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พีทีที โกลบอล เคมิคอล ฉวยจังหวะช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบโควิดระบาดเป็นโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) เป็นเป้าหมายหลักการขยายการลงทุนในปี 2564 ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์สหรัฐอเมริกาเดินหน้าต่อตัดสินใจลงทุนกลางปีนี้ ขณะที่กำลังการผลิตเพิ่มหนุนรายได้โต 8-10%

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทเน้นการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจปลายน้ำ อาทิ โรงงานเม็ดพลาสติก High Performance Product ที่บริษัทยังไม่มีฐานการผลิต โดยอาศัยช่วงจังหวะที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นโอกาสที่เหมาะในการเข้าซื้อกิจการ ทำให้บริษัทสามารถขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ คาดว่าจะได้เห็นการ M&A ในปีนี้

“ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจึงเป็นโอกาสที่จะดำเนินการซื้อกิจการ เพราะจะมีโอกาสซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง และการซื้อกิจการยังเป็นเป้าหมายใหญ่ของการขยายการลงทุนในปีนี้ของ PTTGC เพื่อต่อยอดในการขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ PTTGC มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นในการดำเนินธุรกิจ” นายคงกระพันกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้บริษัท Daelim Industrial Co., Ltd. (แดลิม) จากประเทศเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนออกไป ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการเจรจาอยู่ 2-3 ราย มั่นใจว่ากลางปี 2564 จะได้ข้อสรุป รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการเจรจากับผู้รับเหมาควบคู่กันไปด้วยกับการหาพันธมิตร

นายคงกระพันกล่าวว่า งบการลงทุนในปี 64 อยู่ที่ 3-5 หมื่นล้านบาทเป็นงบลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งไม่รวมการลงทุนเข้าซื้อกิจการ โดยยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การลงทุนก็ต้องระมัดระวังเพื่อรักษาสภาพคล่อง และศึกษาทบทวนแผนการลงทุนให้ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้ามีรายได้จะเติบโตในระดับ 8-10% ซึ่งเป็นการเติบโตตามปริมาณการผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 8-10% เนื่องจากในช่วงปลายปี 2563 และต้นปี 2564 มีการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) เป็นการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนในแนฟทา แครกเกอร์ (Naphtha Cracker) เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของบริษัทฯ และต่อยอดธุรกิจปลายน้ำในอนาคตด้วยกำลังการผลิตเอทิลีน 500,000 ตัน และโพรพิลีน 250,000 ตัน มูลค่าโครงการประมาณ 36,000 ล้านบาท, 2. โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide : PO) และ 3. โครงการโพลีออลส์ (Polyols) เพื่อผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) 200,000 ตันต่อปี และผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ (Polyols) 130,000 ตันต่อปี มีมูลค่าโครงการประมาณ 34,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น