สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ส่งผลกระทบให้โรงเรียนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีมาตรการให้นักเรียนงดเดินทางมาที่โรงเรียน โดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์เพื่อหลีกเลี่ยงและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
แต่สำหรับ “โรงเรียนบ้านแม่ระเมิง” ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งนักเรียนเกือบ 100% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด 957 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าปะกาเกอะญอ ต้องหยุดเรียนอยู่ที่บ้านเช่นกัน น้องๆ ไม่มีโอกาสเรียนผ่านระบบออนไลน์เนื่องจากอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องปั่นไฟ ใช้ระบบน้ำประปาภูเขาต่อจากแหล่งต้นน้ำ
ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนบ้านแม่ระเมิงได้ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการสร้างทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน หนึ่งในกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน คือ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน
ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คุณครูต้องเดินทางขึ้นไปบนดอย เพื่อติดตามดูแลนักเรียนและนำใบงานออกไปแจกให้นักเรียนเพื่อเป็นการทบทวนบทเรียน ซึ่งบ้านของนักเรียนบางคน คุณครูต้องเดินทางขึ้นดอยผ่านทางลูกรัง ระยะทางไกลมากกว่า 30 กิโลเมตร
ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนที่มีทั้งอยู่ประจำและไป-กลับ ในช่วงที่เพื่อนๆ หลายคนต้องอยู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กบนดอย มีน้องๆ อีกกลุ่มหนึ่งรับอาสาอยู่ที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันดูแลไก่ไข่ในโรงเรือน จำนวน 400 ตัว ปีนี้..โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว นับจากที่โรงเรียนรับมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตั้งแต่ปี 2559 และในช่วงโควิดซึ่งโรงเรียนไม่ต้องส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน จึงต้องมีการบริหารจัดการผลผลิตผ่านช่องทางต่างๆ เช่น จำหน่ายให้ชุมชน แจกจ่ายให้ผู้สูงอายุ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน
ขุนเพชร พนาลีสงบ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ระเมิง เป็นลูกค้าประจำที่สั่งซื้อไข่ไก่จากโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง กล่าวว่า สั่งซื้อไข่ไก่จากโรงเรียนเป็นประจำ ครั้งละ 5 แผง เพราะผลผลิตไข่ไก่ของโรงเรียนสด เก็บได้นาน และราคาก็ใกล้เคียงกับราคาตลาด คือ แผง 30 ฟอง ราคา 90 บาท เวลาที่สั่งซื้อไข่ไก่ก็จะมีนักเรียนมาส่งให้ถึงบ้าน บางทีคุณครูก็มาส่งเอง โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน และส่งเสริมประสบการณ์ของเด็กๆ เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ยิ่งช่วงนี้โรงเรียนไม่ต้องส่งผลผลิตไข่ไก่เข้าโครงการอาหารกลางวัน ก็นำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับชาวบ้านได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ส่งถึงบ้าน
“อุเทน วนาประเสริฐยิ่ง” นักเรียนชั้น ม.4 เป็นนักเรียนที่อาศัยอยู่ที่โรงเรียน เนื่องจากบ้านอยู่ห่างจากโรงเรียนเกือบ 10 กิโลเมตร อุเทนสมัครใจช่วยคุณครูดูแลรับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เล่าประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ว่า ได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ การดูแลไก่อย่างถูกวิธี สามารถนำความรู้จากการเลี้ยงไก่ไปประกอบอาชีพได้ รวมไปถึงการวางแผนบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ผลผลิตไข่ไก่ของโรงเรียนเหลือจำนวนมาก จากที่เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้ 300 ฟองต่อวัน เพราะในช่วงนี้ไม่ต้องส่งผลผลิตเข้าโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนบริหารจัดการผลผลิต โดยนำไข่ไก่จำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียนที่สามารถสั่งซื้อได้ทางไลน์ หรือคนในชุมชนที่สามารถโทรมาสั่งซื้อ ไม่ต้องเดินทางมาที่โรงเรียน เพราะผมและเพื่อนๆ จะบริการออกไปส่งไข่ไก่ให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อถึงที่บ้าน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19
“นาคา อาสารักษาไพร” นักเรียนชั้น ม.6 กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ เพราะทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆ และวิธีที่ถูกต้องในการเลี้ยงไก่ไข่แบบยืนกรง ที่บ้านผมและบนดอย ยังไม่มีใครเคยเลี้ยงแบบนี้ และผลผลิตไข่ไก่จากโครงการ เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ สด สะอาด แตกต่างจากไข่ไก่ที่เคยซื้อมา ที่เคยเจอไข่เน่า ผมคิดว่าถ้าบนดอยมีการเลี้ยงไก่ไข่กันในครัวเรือน ทำให้ได้บริโภคผลผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ และยังช่วยให้ครัวเรือนมีรายได้จากการขายผลผลิตไข่ไก่
คุณครูเรืองทรัพย์ ธนมงคลวารี ครูชำนาญการของโรงเรียนบ้านแม่ระเมิง ซึ่งรับผิดชอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ กล่าวว่า นอกจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่นักเรียนสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต โดยที่นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงไก่ไข่ ตลอดจนการจัดการผลผลิตไข่ไก่ การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนระดับชั้น ม.3-ม.6 ช่วยดูแลการเลี้ยงไก่ไข่ และพร้อมถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงไก่ไข่ให้กับรุ่นน้องๆ หากมีนักเรียนชั้น ม.6 จบการศึกษาไป ก็จะมีรุ่นน้องๆ ที่ขึ้นมาดูแลแทน เพื่อความยั่งยืนของโครงการ
“ช่วงโควิด โรงเรียนบริหารจัดการผลผลิตไข่ไก่ โดยนำมาจำหน่ายให้ผู้ปกครองนักเรียนและคนในชุมชน เพราะมีผลผลิตไข่ไก่เหลือมาก เนื่องจากไม่ต้องส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เวลาที่มีคนสั่งซื้อไข่ไก่ นักเรียนก็จะนำไปส่งให้ถึงบ้าน บางที่คุณครูก็จะซื้อไข่ไก่ไปแจกจ่ายให้ผู้สูงอายุในชุมชนด้วย” คุณครูเรืองทรัพย์กล่าว
โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เป็นความร่วมมือของซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับพันธมิตร อาทิ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (เจซีซี) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เข้าถึงการบริโภคไข่ไก่อย่างเพียงพอ สนับสนุนการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญาอย่างสมวัย และโครงการฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยที่สามารถนำประสบการณ์การเรียนรู้เลี้ยงไก่ไข่ไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารได้เป็นอย่างดี