บอร์ด รฟท.อนุมัติขยายเวลาก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) อีก 17 เดือน ไปสิ้นสุด 15 ก.ค. 65 เหตุเคลียร์พื้นที่ รื้อทางหลีกแต่ละสถานีล่าช้า
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟท.ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ได้อนุมัติขยายระยะเวลาสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) ระยะทาง 116 กม.ออกไปอีก 17 เดือนหรือ 530 วัน ตามที่คณะกรรมการตรวจการจ้าง และที่ปรึกษาเสนอ โดยจะขยายเวลาก่อสร้างนับจากวันที่ 31 ม.ค. 2564 สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 2565
นอกจากนี้ยังมีวาระเรื่องโครงการก่อสร้างโรงซ่อมรถจักรที่แก่งคอย แขวงบำรุงทางแก่งคอย กองบำรุงทางเขตสุรินทร์ ศูนย์บำรุงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายการช่างโยธา ซึ่งได้เสนอผลการประมูลที่บริษัท เอ็นพีเอสอี ร่วมค้า จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลด้วยวงเงิน 1,560 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ซึ่งบอร์ดยังไม่อนุมัติ โดยให้ รฟท.ตรวจสอบคุณสมบัติให้ครบถ้วนรอบคอบและนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) มีสาเหตุหลักจากข้อจำกัดในการรื้อทางหลีกแต่ละสถานีที่มีพื้นที่ก่อสร้าง และระยะเวลาน้อย เนื่องจากจะต้องให้กระทบต่อการเดินรถน้อยที่สุด จึงส่งผลทำให้ต้องขยายเวลาก่อสร้างเพิ่มอีก 17 เดือน นอกจากนี้ยังมีประเด็นในการปรับแบบสะพานลอยเชื่อมชานชาลา การออกแบบลิฟต์ เช่น ที่สถานีบ้านหมี่ บ้านภาชี เป็นต้น ส่วนนี้ทำให้ต้องขยายเวลาเพิ่มประมาณ 6 เดือน
สำหรับงานก่อสร้างโยธา สัญญาที่ 2 (ท่าแค-ปากน้ำโพ) มีค่าก่อสร้าง 8,649 ล้านบาท บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง เดิมมีระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน สิ้นสุด 31 ม.ค. 2564 ขยายไปสิ้นสุด 15 ก.ค. 2565 โดยปัจจุบันผลการก่อสร้างคืบหน้า 60% ล่าช้ากว่าแผนงาน 30%
เส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณสถานีท่าแค จังหวัดลพบุรี โดยก่อสร้างตามแนวเส้นทางรถไฟเดิม สิ้นสุดบริเวณสถานีปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทางประมาณ 116 กม. โดยมีงานก่อสร้างสถานีใหม่ 8 สถานี, งานปรับปรุงสถานีเดิม 10 สถานี, งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) 1 แห่ง และงานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถ (CTC) 1 แห่ง
ส่วนความคืบหน้าโครงการจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และโทรคมนาคมในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ งบประมาณ 2,768 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน ซึ่งมีกิจการร่วมค้า บีที-ยูเอ็น ประกอบด้วย บริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่นซิกแนล (ประเทศไทย) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการนั้น ได้ทยอยเข้าพื้นที่ในส่วนที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการคู่ขนานไปกับการก่อสร้างงานโยธาแล้ว