xs
xsm
sm
md
lg

เสร็จแล้ว! ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า “เชียงของ-ขบ.จ่อชง ครม. ม.ค.นี้ เปิด PPP ปั้นฮับโลจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของก่อสร้างเสร็จแล้ว ขนส่งฯ จ่อชง ครม. ม.ค. 64 อนุมัติ PPP เปิดประมูลหาเอกชนลงทุนบริหาร คาดเซ็นสัญญาได้ปี 65 ส่วนศูนย์ขนส่งชายแดน “นครพนม” ทยอยจ่ายเวนคืน เตรียมเปิดร่วมทุน มี.ค. 64 ตั้งเป้าก่อสร้างปี 65

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะที่ 1 มูลค่ารวม 2,139 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 1,360 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 779 ล้านบาท ว่า ขณะนี้การก่อสร้างเสร็จ 100% แล้ว โดยอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจรับงานงวดสุดท้าย และมีแผนเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ซึ่งในช่วงแรกประมาณ 1.5 ปี-2 ปี กรมฯ จะบริหารจัดการเองเนื่องจากกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ยังไม่แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ได้ให้ความเห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดินและค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน อุปกรณ์สำนักงาน และงานระบบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ พร้อมรับความเสี่ยงทางด้านรายได้ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 15 ปี (นับจากปีเปิดให้บริการ)

คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในเดือน ม.ค. 2564 แลเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนต่อไป คาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุน ได้ในช่วงต้นปี 2565

“ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของจะรองรับการขนส่งและกระจายสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ บนเส้นทาง R3A เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) โดยเฉพาะสินค้า E-Commerce จำนวนมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศมีปริมาณลดลงเพราะมีข้อจำกัดในการเดินทางข้ามแดน”

ส่วนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม มูลค่าก่อสร้าง 846.23 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่รวม 115 ไร่ 1 งาน 34 ตารางวา ตั้งอยู่ ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม ด้านทิศใต้ของด่านพรมแดนและด่านศุลกากรนครพนมนั้น อยู่ระหว่างกระบวนการจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ถูกเวนคืนกว่า 100 สัญญา โดยจะเริ่มจ่ายค่าเวนคืนงวดแรกในเดือน ม.ค. 2564

สำหรับกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 นั้น คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 35 อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารประกาศเชิญชวน, RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2564 และออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือนมี.ค. 2564 เริ่มก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2568 ซึ่งจะรองรับการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม

รูปแบบ PPP Net Cost ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดินค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ค่าควบคุมงานก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรายปีในส่วนอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ขณะที่เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้เครื่องมือและอุปกรณ์รวมทั้งบำรุงรักษาโครงการฯ รวมถึงรับความเสี่ยงด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดเวลา 30 ปี นับจากที่เปิดให้บริการ

นอกจากนี้ ขบ.ได้เสนอกระทรวงคมนาคมขออนุมัติแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ระยะที่ 1-3 (2565-2570) โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีความเห็นให้ ขบ.พิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของโครงการเพื่อให้เชื่อมต่อระบบรางอย่างไร้รอยต่อ (Seam Less) และสอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ โดยพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมตามแผนพัฒนาระยะที่ 1 ได้แก่ สุราษฎร์ธานี หนองคาย ขอนแก่น มุกดาหาร ก่อนเพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาชิปโหมด โดยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอขออนุมัติหลักการให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ และขอความเห็นชอบตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ต่อไป

“ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านั้นจะมี 2 ส่วน คือ สถานีที่ติดพรมแดน จะเป็นเกตเวย์ประเทศ กับสถานีที่อยู่ในจังหวัดศูนย์กลางขนส่งขนาดใหญ่ เช่น ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ซึ่งผลศึกษามีความคุ้มค่า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม แต่ตามยุทธศาสตร์มีเป้าหมายให้ศูนย์กระจายสินค้าเป็นจุดที่สามารถชิปโหมดเชื่อมรางได้” อธิบดีกรมการขนส่งฯ กล่าว

  นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)








กำลังโหลดความคิดเห็น