xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เซ็งฟื้นฟู ขสมก.อืด-เผยปี 63 มีนโยบาย 7 เรื่องยังเข็นไม่ออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เผยปี 63 นโยบาย 21 เรื่องยังเข็นไม่ออก 7 เรื่อง เซ็งฟื้นฟู ขสมก.ติดหล่มขั้นตอน ต้องเร่งชงบอร์ด สศช.เห็นชอบแผนลงทุนก่อนเสนอ ครม. คาดจบใน ม.ค. 64 โอดสงสารคน กทม.ไม่ได้นั่งรถใหม่เสียที สั่ง ทล.เร่งเซ็นสัญญา O&M มอเตอร์เวย์ บางใหญ่-กาญจน์ ส่วนบางปะอิน-โคราชต้องแก้ปัญหาแบบจบก่อน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการดำเนินงานปี 2563 ที่ผ่านมา ตนได้มีนโยบาย 8 ข้อ จำนวน 21 เรื่อง ซึ่งมี 14 เรื่องที่สามารถดำเนินการได้แล้ว ส่วนอีก 7 เรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ ปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปเข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลาหลัง 24.00 น. ถึง 04.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในปัจจุบัน ซึ่งได้รับฟังความเห็นผู้ประกอบการหลายเรื่อง ยังไม่ได้ข้อสรุป

ศึกษารูปแบบ เงื่อนไขการอนุญาตบริการรถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน TAXI เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างดำเนินการ ภายในต้นปี 64 จะเริ่มทดลองใช้และคาดว่าในเดือน พ.ค. 64 จะเปิดใช้งานได้

จัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบด้วยตั๋วร่วม ซึ่งยังติดปัญหาเรื่องการทำซอฟต์แวร์หลักที่ยังไม่สามารถสรุปเรื่องค่าลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้มีธนาคารแห่งหนึ่งพร้อมจะลงทุน อย่างไรก็ตาม แผนตั๋วร่วมจะขยายจากรถไฟฟ้าไปยังรถ ขสมก. เรือไฟฟ้า รถ บขส.ในอนาคต

@เร่งดันแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้า ครม. ต้นปี 64
ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจากที่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และได้แจ้งว่าทางเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้กระทรวงคมนาคมนำแผนการลงทุน ขสมก.เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) ก่อนจึงจะนำเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งคาดว่าเสนอได้ภายในเดือน ม.ค. 64 

แผนฟื้นฟู ขสมก.ล่าสุดมีการปรับปรุงจากแผนเดิมที่ได้ดำเนินการไว้สมัยรัฐบาลก่อน เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2562 ใน 3 ประเด็น คือ 1. เปลี่ยนวิธีการจัดหารถจากจัดซื้อเป็นเช่าจ้างวิ่งตามระยะทางเพื่อตัดปัญหาเรื่องงบซ่อมบำรุง และการบริหารจัดการ 2. ปรับอัตราค่าโดยสารจาก 15-20-25 บาท ซึ่งพบว่าเป็นภาระของประชาชน โดยจากการศึกษาได้กำหนดอัตรา 30 บาทต่อวัน ซึ่ง สศช.ได้สอบถามประเด็นความคุ้มค่าและแก้ปัญหาขาดทุน ขสมก. ซึ่งมีการศึกษายืนยัน 3. ปรับช่องทางวิ่งรถ ขสมก.เกาะกลางในถนนที่มีความพร้อม ส่วนประเด็นอื่นๆ เป็นไปตามแผนเดิม 

โดยทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อหยุดการขาดทุน ซึ่งเฉลี่ย ขสมก.ขาดทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 4,000 ล้านบาทต่อปี หากยิ่งช้าหนี้สะสม ขสมก.จะเพิ่มจาก 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาททุกปี แต่วันนี้เรามีวิธีการที่แก้ปัญหาได้ และไม่ได้เป็นการนับหนึ่งใหม่ เนื่องจากไม่ต้องย้อนกลับไปเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ใหม่ แต่เป็นการเสนอในเรื่องแผนลงทุนไปยังบอร์ด สศช.ก่อน ซึ่งเดิมเข้าใจว่าผ่าน ครม.แล้วค่อยเสนอแผนลงทุนไปที่ สศช. แต่ไม่เป็นไร

“ผมให้ปลัดคมนาคมสอบถามให้ชัดเจนว่าประเด็นข้อสงสัยหมดแล้วหรือไม่ ไม่ใช่พอทำไปแล้ว ยังมีประเด็นตามมาภายหลังอีก แบบนั้นก็เป็นเวรเป็นกรรมของประชาชนที่อยู่ในเขต กทม.และปริมณฑล ที่ยังไม่ได้นั่งรถใหม่”

นอกจากนี้ ยังจะต้องเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพิ่มสัดส่วนการขนส่งด้วยระบบรางเป็น 30% ภายในเวลา 3 ปี ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษารูปแบบและวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนโดยจะชัดเจนในปี 64

พัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกจากภาคใต้ที่เข้าสู่กรุงเทพฯ ยังไม่คืบหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะมีเรื่องโควิด-19 ทำให้ปริมาณการขนส่งลดลง

ส่งเสริมให้สนามบินภูมิภาคเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตร หรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด โดยนำร่องที่สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในต้นปี 64

@ต้นปีประเดิมเซ็นสัญญา O&M มอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่
สำหรับโครงการร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นั้น กรมทางหลวง (ทล.) จะสามารถลงนามสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) กับกลุ่ม BGSR (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS / บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF / บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ได้ก่อนในต้นปี 64 เนื่องจากการก่อสร้างงานโยธา 25 ตอนไม่มีปัญหาติดขัด

ส่วน O&M สายบางปะอิน-นครราชสีมา จะต้องรอการก่อสร้างงานโยธาของ 17 ตอนจากทั้งหมด 40 ตอนให้ชัดเจน กรณีที่มีปัญหาให้การปรับแบบ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกลางซึ่งมีผู้แทนจากสถาบันที่เป็นกลาง 14 แห่งได้ขอเวลาในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเพื่อดูปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย และทีโออาร์อย่างโปร่งใส เมื่อแก้ปัญหาแล้วจึงจะลงนามสัญญา O&M เพราะไม่อยากให้เป็นปัญหาลงนามแล้วจะส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ จะเกิดการฟ้องร้องได้






กำลังโหลดความคิดเห็น