xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! แผนฟื้นฟู ขสมก. ถูกยื้อเสนอ ครม. หวั่นเสียโอกาสกระทบคุณภาพชีวิตประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โอ้ละพ่อ! เมื่อ “แผนฟื้นฟู ขสมก.” ที่นับว่าจะเป็นข่าวดีของประชาชนคนไทยส่งท้ายปีหนู (2563)

แต่กลับกลายเป็นมหากาพย์ และเป็นเรื่องที่คนในวงการคมนาคมตั้งคำถามมากมาย เพราะ ณ เวลานี้แผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ยังถูกยื้อ จนทำให้ไม่สามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ ทั้งที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไประยะราวเดือนกว่าๆ แล้ว

แต่ด้วยเหตุประการอันใด ตามกระบวนการแล้ว ก็ต้องรอให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ “กระทรวงการคลัง” ยังคงนิ่งไม่มีเสียงตอบรับในส่วนที่จะต้องตอบความเห็นกลับมายังกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ (สศช.) เช่นเดียวกัน ซึ่งแผนฟื้นฟูฉบับปรับปรุงดังกล่าว เมื่อย้อนดูรายละเอียด พบว่า ได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายปี แม้จะมีการปรับปรุงก็ตาม แต่ไม่ควรจะใช้เวลาตัดสินใจเนิ่นนานขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม แว่วมาว่า ประเด็นดังกล่าว “มีมือดีคอยดึงเรื่องเอาไว้” ไม่ทราบว่าด้วยเหตุผลประการใด งานนี้! บอกได้คำเดียว คือ “ทำคนไทย-ผู้มีรายได้น้อย” ต้องเสียโอกาสต่อไป

คำถามเกิดขึ้นในหัวมากมายว่า คนไทยจะต้องเผชิญกับการใช้บริการ “รถเมล์” ที่มีสภาพรถชำรุด ทรุดโทรม เนื่องจากมีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี บางคันต้องจอดเสียไม่สามารถซ่อมได้ และส่งผลให้มีจำนวนรถไม่เพียงพ่อต่อการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง พ่วงไปถึงเรื่องความล่าช้าในการเดินทาง ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ไม่เพียงเท่านั้น ยังนำมาสู่ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายในของประชาชน

ขณะเดียวกัน ขสมก.ในฐานะองค์กรที่มีหนี้สะสมหลักแสนล้านจนต้องเข้าสู่การฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน ยิ่งจะเพิ่มหนี้สะสมไปเรื่อยๆ อาจจะกลับเข้าสู่วังวนเดิม คือ เป็นภาระของภาครัฐที่จะต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ซึ่งเงินในจำนวนดังกล่าว สามารถนำเงินไปพัฒนาอย่างอื่นได้ และเป็นการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะในราคาแบบเหมาจ่ายต่อวันได้ แบบนี้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการสูญเสียโอกาสในการใช้บริการใหม่ รถเมล์พลังงานสะอาด ราคาประหยัด สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไร้มลพิษ”

จากประเด็นดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม ออกมาระบุว่า ปัจจุบันการดำเนินการแผนฟื้นฟูดังกล่าว ได้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งถึงแม้หาก ครม.จะมีมติเห็นชอบภายใน ธ.ค. 2563 นั้น ขสมก.จะเริ่มทยอยรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ล็อตแรก จำนวน 400 คัน ในช่วง พ.ค. 2564 จากเดิมจะเริ่มทยอยรับ มี.ค. 2564 และครบ 2,511 คันใน 7 เดือน (ก.ย. 2564) และหากยังเลื่อนออกไปอีก ก็ขยับกรอบระยะเวลาออกไปอีกด้วย

นายศักดิ์สยาม ยังสะท้อนความเห็นอีกว่า สิ่งที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอไปนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นไปตามที่นำเสนอในทุกเรื่อง และพร้อมที่จะอธิบายความเห็นของกระทรวงการคลัง และสภาพัฒน์ ทั้งนี้ หากยิ่งรอ จะยิ่งเสียโอกาสในหลายเรื่อง ทั้ง ขสมก.ขาดทุนสะสมเพิ่มต่อเนื่อง ประชาชนได้ใช้บริการที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงสร้างมลพิษเกิดขึ้นทุกวันจากสภาพรถ ขสมก.

เมื่อเปิดดูรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ขสมก. ถือเป็นการรีเซ็ตและหยุดเลือดให้กับ ขสมก.ดำเนินกิจการต่อไปได้ ในส่วนของการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะการจัดหารถเมล์ใหม่ระบบไฟฟ้า (EV) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 2,511 คัน และต่อจากนี้ไปภาครัฐ และ ขสมก.จะไม่ต้องลงทุนอะไรมาก แต่จะใช้วิธีเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานเดินรถ ซึ่งเงินลงทุนก็ให้เป็นภาระของเอกชนไป ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นภาระกับ ขสมก. อีก แต่หลักการของการจัดหารถใหม่จะต้องเป็นรถปรับอากาศเท่านั้น และจะต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม และ ขสมก.มั่นใจว่าใน 7 ปีผลการดำเนินงานของ ขสมก.จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (Ebitda) เป็นบวก ที่สำคัญ คือ ไม่เป็นภาระของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ขสมก.จะปรับรูปแบบการเดินรถโดยจ้างเอกชนวิ่งตามระยะทาง โดยมีโครงข่ายหลักจำนวน 162 เส้นทาง อัตราค่าโดยสารแบบเหมาไม่จำกัดเที่ยวและเส้นทาง 30 บาท/วัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้ใช้บริการกว่า 95% มีการเดินทางไกลและต้องจ่ายค่าโดยสารสูงกว่า 30 บาทต่อวัน ขณะที่เส้นทางของรถเอกชนร่วมบริการจำนวน 54 เส้นทางนั้นเอกชนจะเข้าสู่ระบบเดียวกัน รับจ้าง ขสมก.วิ่งตามระยะทาง เก็บค่าโดยสาร 30 บาท ประชาชนก็จะได้ประโยชน์

... ต้องจับตาดูว่า “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” จะถูกคลอดออกมาเมื่อไหร่ เพราะถือเป็นมิติใหม่ที่ทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สะสมมาอย่างยาวนาน จะสามารถปลดล็อคกลับมายืนได้ด้วยตัวเองและยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น