“ศักดิ์สยาม” ยอมรับรถเมล์ไฟฟ้าหลุดไทม์ไลน์ เผยล็อตแรก 400 คัน ต้องขยับแผนรับมอบออกไปเป็น พ.ค. 64 จากเดิม มี.ค. 64 เหต “คลัง-สศช.” ยังไม่หมดข้อสงสัยแผนฟื้นฟู ขสมก.และการบริหารหนี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) รวบรวมข้อมูลที่เป็นความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อชี้แจง ก่อนที่จะสรุปเพื่อนำเสนอเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้แผนฟื้นฟู ขสมก.มีความล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยหาก ครม.มีมติอนุมัติแผนฟื้นฟู ขสมก.ภายในเดือน ธ.ค. 63 คาดว่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) ล็อตแรกจำนวน 400 คันจะเริ่มส่งมอบได้ภายในเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งเลื่อนจากกำหนดเดิมที่จะส่งมอบในเดือน มี.ค. 2564 แต่หาก ครม.อนุมัติหลังจากเดือน ธ.ค. กำหนดส่งมอบรถจะต้องเลื่อนออกตามไปด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จากที่สำนักเลขาธิการ ครม.ได้มีการสอบถามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง ทราบว่าได้มีความเห็นเพิ่มเติม เช่น คลังยังมีความเห็นเรื่องการบริหารหนี้กว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมชี้แจงในทุกประเด็น เพื่อเร่งนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติ เนื่องจากหากยิ่งล่าช้า ขสมก.จะยิ่งขาดทุนสะสมมากขึ้น ขณะที่ประชาชนจะยังต้องใช้บริการรถโดยสารที่มีสภาพเก่า และมีปัญหาด้านมลพิษและก่อให้เกิด PM 2.5
“กระทรวงคมนาคมพร้อมทุกตอบความเห็น บางเรื่องอาจจะมีข้อมูลที่ไม่ทันสมัย เพียงแต่อยากให้เร่งรัด เพราะเสนอเรื่องไป ครม.กว่า 1 เดือนแล้ว และผมได้ชี้แจงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รับทราบแล้ว ซึ่งนายกฯ ได้เร่งรัดให้ทางเลขาฯ ครม.เร่งดำเนินการ สลค.รีบดำเนินการ” นายศักดิ์สยามกล่าว
สำหรับแผนฟื้นฟู ขสมก.มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการ และการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของภาครัฐ โดยจะมีการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า (EV) แบบชานต่ำ จำนวน 2,511 คัน, นำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ, จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 30 บาท/คน/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวและจำนวนเส้นทาง มีการปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้ทับซ้อนกัน และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ จำนวน 162 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางของ ขสมก.108 เส้นทาง และเส้นทางของเอกชน 54 เส้นทาง และพัฒนาอู่บางเขน และอู่มีนบุรีในเชิงธุรกิจ เพื่อเพิ่มรายได้