xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กโก กรุ๊ปผนึก กนอ.ตั้งนิคมฯ ที่ระยอง รองรับการลงทุน New S-Curve

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ็กโก กรุ๊ปจับมือ กนอ.ตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง” ชูจุดเด่น Smart & Green Industrial Estate รับอีอีซี คาดเปิดให้บริการได้ในปี 2565 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ จับมือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ชูจุดเด่นเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว (Smart & Green Industrial Estate) รองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

บริษัทฯ มุ่งมั่นขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลัก และการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองนับเป็นหนึ่งในธุรกิจ Smart Energy Solution ที่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียวที่มีความพร้อมทุกด้าน รองรับความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาลงทุนและทำการวิจัย พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจร่วมกันตามแนวทางของนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืนในฐานะที่เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) 


โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวมประมาณ 621 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคประมาณ 2 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักประเภท S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

“โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำดิบ สายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น รวมถึงมีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งมีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ และอยู่ในบริเวณที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน ในขณะเดียวกัน ยังสร้างโอกาสให้บริษัทในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและแบบลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) นอกจากนี้ บริษัทยังมองเห็นโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ ซึ่งจะเข้ามาลงทุนในนิคมฯ ในอนาคตด้วย เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ Data Center ในพื้นที่โครงการ เป็นต้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น