ทย.เตรียมสรุปผลศึกษาก่อสร้างสนามบินบึงกาฬเสนอคมนาคมและ ครม.รับฟังความเห็นครั้งที่ 2 คาดค่าก่อสร้าง 3,152 ล้านบาท พื้นที่อาคารผู้โดยสาร 20,000 ตารางเมตร รันเวย์ยาว 2,500 เมตร ปักหมุดจุดก่อสร้างพื้นที่อำเภอเมือง เดินทางได้ในเวลา 15 นาที
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า วันที่ 6 ม.ค. กรมท่าอากาศยานได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานเปิดการประชุม มีนายสมเกียรติ มณีสถิตย์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน เป็นผู้แทนกรมท่าอากาศยาน เข้าร่วมประชุม พร้อมคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่กรมท่าอากาศยาน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ โรงแรมเดอะวัน อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ
โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ มีระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2564 รวม 270 วัน ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และจัดประชุมกลุ่มย่อยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เป็นอย่างดี ภาพรวมของโครงการฯ มีขอบเขตการศึกษา 4 ด้าน ดังนี้
1. การประเมินความเป็นไปได้ โดยมีเกณฑ์การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากด้านวิศวกรรม ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจการลงทุน
2. การสำรวจออกแบบระบบท่าอากาศยานและจัดทำรูปแบบรายละเอียดเบื้องต้น เช่น การประเมินค่าชดเชยอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น การออกแบบลักษณะของท่าอากาศยาน ประมาณราคาค่าก่อสร้างเบื้องต้น
3. การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
4. จัดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
โดยจากการศึกษาวิเคราะห์คาดว่าจะใช้งบในการก่อสร้างประมาณ 3,152 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคา
รที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร ทางวิ่งขนาด 45×2,500 เมตร ลานจอดอากาศยาน อาคารประกอบต่างๆ และจากการศึกษาสภาพพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างมากที่สุด ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอโป่งเปือย และตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ อยู่ห่างจากหอนาฬิกาอำเภอเมืองบึงกาฬ ประมาณ 12 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากในเมืองไปถึงท่าอากาศยานประมาณ 15 นาที
หลังจากนี้จะได้ดำเนินการจัดทำข้อสรุปเพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา และขอข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเห็นชอบจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป