กรมท่าอากาศยานรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 รายงานการเปลี่ยนแปลงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาสนามบินสุราษฎร์ธานี ขยายลานจอด ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพิ่มขีดรับผู้โดยสารเป็น 3.5 ล้านคน/ปี
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า วันนี้ (18 ม.ค.) ทย.ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุขวรรณโณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี เป็นผู้แทนกรมท่าอากาศยานเข้าร่วมประชุม โดยมี นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเตย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งได้มีการนำเสนอข้อมูลทั้งในส่วนของข้อมูลด้านปริมาณการเดินทาง ปริมาณผู้โดยสาร การขนส่งสินค้าทางอากาศ และจำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ในปัจจุบันและในอนาคตที่จะเป็นประโยชน์ต่อรูปแบบของการพัฒนา ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม แนวทางการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นของท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การศึกษาและจัดทำรายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ซึ่งในการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับโครงการตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
โดยกรมท่าอากาศยานมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานีที่ได้รับงบประมาณในปี 2563-2566 ดังนี้
1. งานขยายลานจอดอากาศยาน (ปีงบประมาณ 2563-2565) พร้อมระบบไฟฟ้าท่าอากาศยานและติดตั้งสะพานเทียบอากาศยานพร้อมระบบนำจอด เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยาน B737 จากเดิม 5 ลำ ให้สามารถรองรับทั้งหมดได้ 11 ลำ ในเวลาเดียวกัน
2. งานปรับปรุงระบบสายไฟลงใต้ดิน (ปีงบประมาณ 2563-2565) เพื่อให้ระบบจำหน่ายไฟฟ้ามั่นคง ลดอัตราการเกิดปัญหาไฟดับและรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของท่าอากาศยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. งานปรับปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร (ปีงบประมาณ 2563-2565) ให้สามารถรองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน จากเดิม 800 คนต่อชั่วโมง หรือ 2.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1,400 คนต่อชั่วโมง หรือ 3.5 ล้านคนต่อปี และสามารถจอดรถยนต์ได้ 700 คัน
4. งานก่อสร้างเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับขนานพร้อมระบบไฟฟ้าท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี (ปีงบประมาณ 2564-2566)
5. งานก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี (ปีงบประมาณ 2564-2565)