เอกชนเกาะติดความต้องการแผงโซลาร์ฯใกล้ชิดหลังจีนผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของโลกมีปัญหาขาดแคลนกระจกวัตถุดิบหลักในการผลิต ผวาไทยอาจขาดแคลนได้ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยิ้มรับมติกพช.ปรับราคาซื้อไฟโครงการโซลาร์ภาคประชาชนมั่นใจบูมลงทุน การจ้างงานเพิ่ม
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯกำลังติดตามความต้องการของแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในปี 2564 จากเทรนด์ของโลกที่มุ่งพลังงานสะอาดโดยเฉพาะนโยบายของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์รายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนกระจกที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแผงโซลาร์ฯที่ส่งผลต่อต้นทุนและคาดว่าจะทำให้ราคาแผงโซลาร์ฯในไตรมาสแรกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5-6%
“ ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและมุ่งเน้นมายังโซลาร์ฯ ทั้งอเมริกา จีน เวียดนาม รวมถึงไทยซึ่งไทยเองยังเป็นผู้นำเข้าหลักจึงต้องมีการวางแผนให้ดี ราคาที่คาดว่าจะปรับขึ้นยังไม่กังวลนักแต่ยังหวั่นเกรงว่าอาจนำไปสู่การขาดแคลนในช่วงไตรมาส 2 ได้เช่นกันเพราะเป็นไฮซีซั่นในการติดตั้งของไทยก่อนเข้าสู่ฤดูฝนที่เป็นโลว์ซีซั่น แต่ขณะนี้ก็ยังคงมีสินค้าให้เลือกอยู่โดยพิจารณาจากเว็บไซต์ที่มีการนำมาขายจำนวนมาก ดังนั้นก็ต้องติดตาม”นายพลกฤตกล่าว
สำหรับมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อ 25 ธ.ค.63พิจารณาปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟส่วนเกินจากโครงการพลังานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน 2.20 บาทต่อหน่วยจากเดิม 1.68 บาทต่อหน่วยเป้าหมาย 50 เมกะวัตต์มีผล 1 มกราคม 2564 พร้อมทั้งให้ขยายผลการดำเนินโครงการไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตรรับซื้ออัตรา 1 บาทต่อหน่วยรวม50 เมกะวัตต์ มาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนติดตั้งแผงโซลลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกภาคส่วนและจะก่อให้เกิดการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ปี 2564 จะเอื้อมากกว่าในปีที่ผ่านๆ มาทั้งราคารับซื้อส่วนเกินที่รัฐปรับขึ้นล่าสุด ความสะดวกในการขออนุญาตติดตั้งที่รัฐมีการปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆไปแล้วนวัตกรรมที่ทันสมัยมากขึ้นสามารถเช็คผ่านระบบมือถือ และทิศทางของโลกที่กำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด
“ มติกพช.ถือว่าเป็นของขวัญที่ดีมาก เพราะการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์รูฟท็อปภายใต้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนมีประชาชนร่วมโครงการต่ำไม่ใช่ประชาชนไม่อยากร่วมแต่เข้าร่วมแล้วได้ราคารับซื้อ 1.68 บาทต่อหน่วยที่มองว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน และปัญหาขั้นตอนการติดตั้งที่ยุ่งยากมากแต่เวลานี้มีการปรับเกณฑ์ต่างๆ และมีบริษัทที่รับติดตั้งแบบครบวงจรจำนวนมาก โดยทางคณะกรรมการกำลังกิจการพลังงาน(กกพ.)มีรายชื่อที่เป็นมาตรฐานให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการด้วย ”นายพลกฤตกล่าว
อย่างไรก็ตามปี 2563 ภาคที่อยู่อาศัยมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจำนวนมากโดยส่วนใหญ่ติดตั้งเพื่อใช้เองเป็นหลัก(IPS ) โดยพบว่าภาคประชาชนเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ภาคธุรกิจ ห้าง ร้าน โดยเฉพาะภาคโรงงานขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี ) ได้หันมาติดตั้งเพิ่มขึ้นมากจากก่อนหน้านี้โรงงานขนาดใหญ่จะติดตั้งทำให้ภาคประกอบการมีการเติบโตถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนและในปี 2564 จากปัญหาโควิด-19 จะผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาติดตั้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อเป็นการลดการประหยัดพลังงาน ประกอบการการมุ่งเน้นในเรื่องของอาคารประหยัดพลังงานและธุรกิจสีเขียว ประกอบกับบางส่วนจะมองถึงการรองรับการมาของยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)