xs
xsm
sm
md
lg

“กพช.” เคาะลุยโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ปี’ 64 เพิ่มราคารับซื้อเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กพช. เดินหน้าขับเคลื่อนไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาภาคประชาชน เป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบในปี 2564 แบ่งเป็นซื้อไฟส่วนเกินจากกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 50 เมกะวัตต์ และสถานศึกษา โรงพยาบาล น้ำเพื่อการเกษตร 50 เมกะวัตต์ คาดสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม วันที่ 25 ธ.ค. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1. ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วย เป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 - 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

2. ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาทต่อหน่วย แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 เมกะวัตต์ กลุ่มโรงพยาบาล 20 เมกะวัตต์ และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์รวมเป็น 50 เมกะวัตต์

หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 เมกะวัตต์ จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

กพช. เคาะ "โซลาร์รูฟท็อป" 75 เมกะวัตต์

วันนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมี ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์...โพสต์โดย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2020

กำลังโหลดความคิดเห็น