“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 97.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนตั้งแต่สงครามการค้า และการระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนมาตรการรัฐอัดฉีดได้ผล แต่ยังจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศใกล้ชิด หวังคนไทยร่วมมือกันป้องกันเพื่อให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวได้อีกครั้ง
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเดือนพฤษจิกายน 2563 อยู่ที่ 97.54 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) และพบว่าเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือนหากเทียบการเปลี่ยนแปลงในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบมาโดยตลอดนับจากเหตุการณ์สงครามการค้า และการระบาดของไวรัสโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการภาครัฐมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
“ดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต พ.ย. 2563 อยู่ที่ 64.8% สูงสุดในรอบ 8 เดือนบ่งชี้การปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวจากมาตรการรัฐ และมีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และได้รับข่าวดีจากความคืบหน้าของวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต้องควบคุมสถานการณ์ไม่ให้การแผ่ระบาดขยายตัวออกไปเป็นวงกว้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้กลับมาอีกครั้ง” นายสุริยะกล่าว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศซึ่งส่งผลในแง่บวกสะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ขยายตัวขึ้นทั้งรถยนต์ ปิโตรเลียม ฯลฯ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 63 กลับมาขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวจากเดือน ต.ค. 63 ที่ 1.77% อย่างไรก็ตามการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันหากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกันการแพร่เชื้อเชื่อมั่นว่าการระบาดคงจะขยายไปไม่มากจะทำให้ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ MPI ในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563
“อัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 ให้ชัดเจนอีกครั้งท้ังในและต่างประเทศ แต่คาดการณ์ปี 2564 เบื้องต้น สศอ.คาดการณ์ MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัว 4.0-5.0% กรณีที่หากโควิด-19 ของไทยไม่ขยายวงกว้าง” นายทองชัยกล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ทำให้ดัชนีฯ พ.ย.ปรับเพิ่ม ได้แก่ อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัว 4.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กลับมาขยายตัว 10.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตวิถีใหม่ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.00% และอุตสาหกรรมถุงมือยางขยายตัว 14.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น