กมธ.แรงงาน วุฒิสภา แนะทุกหน่วยงานขับเคลื่อนมาตรการแรงงานต่างด้าวอย่างบูรณาการ สกัดระบาดโควิด-19 ทบทวนมติ ครม.ขยายเวลาแรงงานต่างด้าวรองรับปัญหาขาดแคลนแรงงานด้วย
วันนี้ (22 ธ.ค.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แรงงาน แถลงข่าวการตรวจสอบแรงงานเมียนมาที่ติดโควิด-19 ว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการขยายตัวมากขึ้น มีแรงงานพยายามเข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย ทาง อ.แม่สอด จำนวนมาก ซึ่งต้องมีการบูรณาการกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายความมั่นคงของไทย ซึ่งต้องเป็นมาตรการเข้มงวดในการสกัดกั้นการเข้ามาของแรงงานทั้งลาวและกัมพูชา และต้องมีการควบคุมไม่ให้เชื้อโควิดระบาดในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร ยับยั้ง ควบคุมการเคลื่อนที่และมาตราทางกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งได้แนะนำกระทรวงแรงงานได้บูรณาการด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข ไปดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายให้ได้ อีกทั้งให้ความรู้ การแนะนำผู้ประกอบการและแรงงานให้เข้าใจว่าจะป้องกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะให้สถานการณ์นี้ยุติลงไป รวมถึงการทดแทนแรงงานที่อาจจะขาดแคลนในช่วงนี้ จะเป็นการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวได้ทำงานต่อได้ เพื่อรับมือกับปัญหากรณีขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในช่วงวิกฤตด้วย
พล.อ.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้พยายามขับเคลื่อนโดยบูรณาการ ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าไปจัดระเบียบแรงงานเหล่านี้แล้ว โดย กมธ.ได้กำชับว่าต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น และการจัดระเบียบแรงงานในฐานข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 2,600,000 คน แต่ที่สมุทรสาครจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 คน ต้องใช้มาตรการตรงนี้ไปควบคุมไม่ให้แรงงานเคลื่อนที่ โดยไปให้ความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งในด้านที่พักและสุขภาพอนามัย สำหรับพื้นที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น สมุทรปราการ ระยอง สงขลา ที่เป็นจังหวัดมีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนสมุทรสาครก็ต้องให้ความระมัดระวังเช่นเดียวกัน