จันทบุรี - เผยภาพแรงงานต่างด้าวลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติจุดผ่านแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน ไม่ใช่หนีโควิด-19 แต่ลอบเข้ามาทำงานในสวนผลไม้และล้งที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ข้อตกลงส่งแรงงานถูกกฎหมายยังไม่เกิด เหตุทางกัมพูชายังไม่พร้อม แฉมีข้าราชการในพื้นที่เกี่ยวข้องขบวนการลักลอบขนคนเข้าประเทศ
จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก “หมอแล็บแพนด้า” ได้แจ้งเบาะแสการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของกลุ่มแรงจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ช่องทางธรรมชาติบริเวณจุดผ่านแดนด่านถาวรบ้านแหลม ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยในแต่ละวันจะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้าออกจุดดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบนั้น
วันนี้ (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวใน จ.จันทบุรี ว่า การเดินทางเข้าออกบริเวณช่องทางธรรมชาติในพื้นที่ชายแดน จ.จันทบุรี ของกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา เป็นที่รู้กันมานานของผู้ประกอบในพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าของสวนผลไม้ และล้งผลไม้ที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศได้
โดยกลุ่มแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ข้ามแดนเข้ามาเพื่อหนีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มพบในบางเมืองของกัมพูชา แต่เป็นการข้ามแดนเข้ามาเพื่อรับจ้างเก็บผลไม้ตามสวนต่างๆ และเข้าทำงานในล้งผลไม้เนื่องจากกลุ่มแรงงานเหล่านี้ก็ต้องการหนีจากความอดอยากเพราะที่บ้านเกิดก็ไม่มีงานให้ทำ
ทั้งนี้ บางกลุ่มจะเดินทางเข้ามาแบบเช้าไปเย็นกลับ ขณะที่บางกลุ่มลักลอบเข้ามาเพื่อทำงานในระยะยาว ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข
ข้อตกลงส่งแรงงานกัมพูชาล็อตแรกล้ม ทำปัญหาลอบเข้าเมืองเกิด
ทั้งนี้ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติบริเวณแนวชายแดน จ.จันทบุรี เกิดจากการที่รัฐบาลไทยและกัมพูชา ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการส่งแรงงานล็อตแรกเข้ามาทำงานใน จ.จันทบุรี เพื่อให้เป็นจังหวัดนำร่องในการนำแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานโดยถูกกฎหมายในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย
หลังรัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงาน และ ศบค. ได้มีข้อตกลงกับทางการกัมพูชา ในการส่งแรงงานล็อตแรกเข้าไทยจำนวน 500 รายในวันที่ 15 ก.ย.2563 ซึ่งแรงงานต่างด้าวทั้งหมดจะต้องมีเอกสารการตรวจโรคที่ชัดเจนจากฝั่งกัมพูชา และเมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานต่างด้าวจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค ตรวจคัดกรอง และการกักตัว 14 วัน ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาทต่อหัว
แต่หากผู้ประกอบการนำตัวแรงงานต่างด้าวเข้าไปกักตัวในล้ง เป็นเวลา 14 วันค่าใช้จ่ายต่อหัวก็จะตกอยู่ที่ประมาณ 2,700 บาท และในข้อตกลงนี้พบว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ เป็นอย่างดี
และที่ผ่านมา สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี สมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี ผู้ประกอบการล้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ช่วยกันจัดเตรียมสถานที่ในการกักตัวและความพร้อมด้านต่างๆ รวมทั้งจะทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่กัมพูชาเพื่อให้เข้าใจตรงกันด้วย เนื่องจากเชื่อว่าหากการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชาชุดแรกไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะมีการนำแรงงานในงานชุดที่ 2 และ 3 รวมทั้งชุดต่อๆ ทยอยเข้ามา ก่อนที่จะถึงวันที่ 15 ก.ย.
แต่สุดท้ายข้อตกลงทั้งหมดก็ต้องมีอันยกเลิกไปโดยที่ทางการกัมพูชา อ้างว่า ยังไม่มีความพร้อมในการส่งตัวแรงงานชาวกัมพูชาเข้าไทย จนทำให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของไทยไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่นั้นมา จนกลายเป็นปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และสุดท้ายก็มีข่าวพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้งในบางเมืองของกัมพูชา
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวยังเผยอีกว่า ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะบริเวณช่องทางธรรมชาติ เป็นปัญหาที่หน่วยงานราชการในพื้นที่รับรู้มาเป็นอย่างดี และบางส่วนยังเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการขนคนเข้าเมือง แต่ก็ไม่เห็นว่าจะมีการป้องกันหรือแก้ไขอย่างจริงจังแต่อย่างใด สุดท้ายผู้ประกอบการผู้ที่ต้องแบกรับปัญหาทั้งหมดก็คือ ประชาชน และผู้ประกอบการ