ภาคอุตสาหกรรมหมูทั่วโลกยังคงต้องต่อสู้กับโรคในหมูที่สำคัญอย่าง ASF ที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคที่มีความรุนเรง ทำให้หมูมีอัตราการตายสูงถึง 100% ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ 35 ประเทศทั่วโลกยังคงต้องเผชิญหน้ากับโรค ASF กระทบต่อปริมาณหมูทั่วโลกที่ต้องลดลง หลายประเทศมีหมูไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศจนต้องพึ่งพาการส่งออก บางประเทศราคาหมูปรับตัวสูงขึ้นกว่า 3 เท่าจากภาวะปกติ
ดังจะเห็นได้จาก ประเทศจีน ที่ราคาหมูมีชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 160 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กัมพูชาราคา 95 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม ลาวราคา 85 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 82 บาทต่อกิโลกรัม ผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ต้องบริโภคเนื้อหมูที่มีราคาสูง ซึ่งเกิดจากกลไกตลาดที่ขาดสมดุลระหว่างการบริโภคกับผลผลิตที่ไม่สอดคล้องกัน
ขณะที่ประเทศไทยที่ตระหนักถึงผลกระทบอันร้ายกาจของโรคนี้ จึงร่วมกันเตรียมรับมือกับโรคในทันทีที่รัฐบาลกลางของจีนรายงานการติดเชื้อเมื่อ 3 สิงหาคม 2561 พร้อมยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ทุกหน่วยงานของรัฐต้องถือเป็นภารกิจร่วมกันกับภาคผู้ผลิต กลายเป็นภาพความร่วมมือที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ กระทั่งไทยรอดพ้นวิกฤตโรคนี้มาได้กว่า 2 ปี และยังคงสถานะประเทศเดียวในภูมิภาคที่ “ปลอดจากโรค ASF” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ส่งผลให้การเลี้ยงหมูของไทยที่สร้างผลผลิตปีละมากกว่า 22 ล้านตัวยังคงเดินหน้าต่อไม่หยุดชะงัก
วันนี้ ราคาหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทย ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อยู่ที่กิโลกรัมละ 72-80 บาท หมูไทยยังครองแชมป์ “ราคาถูกที่สุดในภูมิภาค” สวนทางกับความสามารถในการป้องกันโรคที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องอาชีพเดียวของเกษตรกร และปกป้องคนไทยให้รอดพ้นจากภาวะราคาหมูแพงดังที่ประเทศอื่นกำลังประสบอยู่ ที่ผ่านมาหมูไทยจึงไม่เคยขาดแคลน ภาคผู้ผลิตต่างร่วมกันบริหารจัดการปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ผู้บริโภคชาวไทย
อย่างไรก็ตาม ภาวะโรค ASF ที่ยังคงคุกรุ่นแทบทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ทำให้ปริมาณผลผลิตหมูยังคงขาดแคลนสร้างดีมานด์ให้หลายประเทศที่มีความต้องการหมู และไทยถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกประเทศอยากเปิดรับหมูคุณภาพดี ปลอดโรค เพื่อป้อนประชากรในประเทศมากขึ้น ซึ่งวันนี้หมูไทยก็ถือเป็นสินค้าเดียวเท่านั้นที่สามารถส่งออกนำเงินตรามาพัฒนาประเทศได้ในยามวิกฤตโควิดเช่นนี้ นี่จึงถือเป็นโอกาสของไทยและโอกาสของเกษตรกร การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในห้วงเวลานี้
ขณะที่ผู้บริโภคก็ยังคงมีทางเลือกในการรับประทานอาหารมากมาย หากมองว่าเนื้อหมูราคาสูง ผู้บริโภคก็ยังมีเนื้อไก่ ไข่ กุ้ง ปลา ที่เป็นโปรตีนราคาถูก ให้เลือกรับประทานได้อย่างหลากหลาย นอกจากประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ยังได้ช่วยต่อลมหายใจให้เกษตรกรไทยด้วย
บทความโดย รัฐพล ศรีเจริญ