งานวิจัยผู้บริโภคปี 2563 ของเต็ดตรา แพ้ค เผยวิกฤตการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญระหว่างความปลอดภัยทางอาหาร และการดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้สถานการณ์โควิด19 ระบุ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคเห็นว่า “ความปลอดภัยทางอาหาร” เป็นประเด็นหลักของสังคม และ“สิ่งแวดล้อม” ยังเป็นความวิตกกังวลหลักของโลก ขณะที่ ผู้บริโภค 77% ทั่วโลกเห็นว่า “ขยะอาหาร” กำลังเป็นปัญหาสำคัญ
เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชั่นระบบการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก เปิดเผยงานวิจัยระดับนานาชาติซึ่งดำเนินการร่วมกับอิปซอส (Ipsos) แสดงให้เห็นว่า “ความปลอดภัยทางอาหาร” กำลังเป็นประเด็นหลักของสังคม โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เชื่อว่า สถานการณ์โควิด-19 คือ “ภัยคุกคามที่แท้จริง” และในขณะเดียวกันความวิตกกังวล”เรื่องสิ่งแวดล้อม” ก็ยังคงปรากฏอย่างเด่นชัด ก่อให้เกิดความย้อนแย้งในวิธีคิดของผู้บริโภค เมื่อพวกเขาต้องสร้างสมดุลระหว่างสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการดำรงชีวิต นั่นคือ อาหารที่ปลอดภัย กับการใส่ใจเรื่องความยั่งยืนของโลกที่เราอาศัยอยู่
รายงานเต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ จัดทำเป็นฉบับที่ 13 ในปีนี้ ชี้ว่าทั่วโลกมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับความปลอดภัยทางอาหารและการจัดหาอาหารในอนาคต 40% เพิ่มขึ้นจาก 30% ในปี 2562 นอกจากนี้ ผู้บริโภคมากกว่า 50% ยังเชื่อว่าการยกระดับความปลอดภัยทางอาหารเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิต และยังคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่บริษัทผู้ผลิตจำเป็นต้องจัดการแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้และในอนาคต งานวิจัยครั้งนี้ยังระบุว่า สุขภาพมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับประเด็นความปลอดภัยทางอาหารและสุขอนามัยที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผู้บริโภค 2 ใน 3 กล่าวว่า “การมีสุขภาพที่ดี คือความปลอดภัยของชีวิต” และผู้บริโภค 60% ทั่วโลก ยังกล่าวว่าพวกเขารู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอาหารที่พวกเขาซื้อว่าถูกสุขอนามัยหรือปลอดภัยหรือไม่
เมื่อถามผู้บริโภคว่า “บรรจุภัณฑ์”ควรมีคุณสมบัติข้อใดเป็นหลัก พวกเขาต่างชี้ว่าการรับประกันอาหารปลอดภัยคือหน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์ และยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในระบบบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลถึงความปลอดภัยทางอาหาร โดยผู้ตอบคำถามส่วนใหญ่ยังกล่าวว่า “การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน” คือหนึ่งในประเด็นหลักที่แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มต้องใส่ใจทั้งในวันนี้และวันหน้า
รายงานเต็ดตรา แพ้ค 2563 ยังเน้น “เรื่องขยะอาหาร” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 3 ใน 4 ที่เห็นว่าเรื่องนี้น่าวิตกกังวล ผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 ต่อห่วงโซ่อุปทานกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักว่า ขยะอาหารกำลังกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยมีแนวโน้มว่าความวิตกกังวลนี้จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเราจำเป็นต้องจัดหาอาหารให้ประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้บริโภคยังบอกด้วยว่าการลดขยะอาหารถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับหนึ่งที่พวกเขาสามารถสนับสนุนได้ และยังเป็นปัญหาสำคัญที่สุด 1 ใน 3 เรื่องสำหรับบริษัทผู้ผลิต แต่ความสับสนกับข้อมูลบนฉลากยังคงเป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารข้อมูลให้ดีกว่าเดิม
“รายงานฉบับนี้แสดงถึงความต้องการรูปแบบใหม่ของผู้บริโภค นวัตกรรมที่ผู้บริโภคต้องการเป็นอันดับแรกในวันนี้คือสิ่งที่สามารถถนอมอาหารให้ปลอดภัยได้ยาวนานขึ้น และหลีกเลี่ยงการสร้างขยะไปพร้อมกับการรักษาคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร” นายสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “สิ่งสำคัญอันดับต่อมาคือ ระบบแจ้งวันหมดอายุอัจฉริยะ ซึ่งเป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาขยะเศษอาหาร นับเป็นเรื่องน่าสนใจว่าแม้การแพร่ระบาดได้เปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบันอย่างมหาศาล แต่ผู้บริโภคยังคงชื่นชอบบรรจุภัณฑ์แบบเรียบง่ายที่ยืนยันได้ว่านำกลับไปรีไซเคิลได้”
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะไม่ละเลยต่อความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด19” เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว “การที่มุมมองของคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่เรายังต้องคำนึงถึงลำดับความสำคัญในระยะยาวเช่นกัน ซึ่งในที่นี้การคำนึงถึงการปกป้องโลกใบนี้ ควรจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ”
"งานวิจัยของเต็ดตรา แพ้ค มีความสำคัญ โดยชี้ให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ สามารถจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรบ้าง” ผศ.ดร.ศศิธร ตรงจิตภักดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว “รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนไม่ได้ให้ความสนใจกับความต้องการพื้นฐานของพวกเขาเท่านั้น แต่การเลือกของพวกเขาได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่างๆ ที่กว้างขึ้นด้วย”
รายงานนำเสนอข้อสรุปว่า ไม่มีโอกาสใดที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ในการเริ่มพูดคุยถกประเด็นกันในวงกว้างถึงเรื่องความยั่งยืนและบทบาทของบรรจุภัณฑ์ในอนาคต โดยบริษัทต่างๆ สามารถแสดงออกถึงความมุ่งมั่นต่อปัญหาสองเรื่องนี้และนำเสนอวิธีการแก้ไขวิกฤตการณ์ระหว่างความวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ปะทุขึ้นจากสถานการณ์โควิด19 ในปัจจุบัน