เอกชนเกาะติดโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ใกล้ชิด หวังรัฐจะออกมาตรการที่สามารถควบคุมได้อยู่ เพราะหากไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลประทบต่อเศรษฐกิจในปี 2564 ที่เคยคาดว่าจะโต 3-4% ชะลอตัวได้ ภาพปัญหาเหมือนรอบแรกจะกลับมากระทบวงกว้าง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่อย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก และขยายเป็นวงกว้างอาจจะนำไปสู่การล็อกดาวน์พื้นที่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะทั้งประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์โดยเอกชนยังคาดหวังว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเร่งแก้ไขอย่างทันท่วงที เพราะหากไม่เช่นนั้นภาพผลกระทบเช่นที่ผ่านมาจะกลับมาอีกครั้งและจะทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 3-4% จากปีนี้อาจต้องชะลอตัว
“ที่สุดจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ภาครัฐน่าจะเป็นผู้ที่ตัดสินใจได้ดีสุด และเอกชนเองก็ต้องปฏิบัติตามซึ่งเอกชนเองก็กังวลและกำลังติดตามใกล้ชิดเพราะหากเอาไม่อยู่ มีการขยายวงกว้างและต้องยกระดับการล็อกดาวน์เพิ่มภาพเดิมๆ ก่อนหน้าที่โควิดระบาดรอบแรกจะกลับมาทั้งโรงงานอาจจะต้องลดกำลังผลิตลง หรือปิดชั่วคราว ก็จะกระทบการจ้างงาน ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) จะขาดสภาพคล่อง ฯลฯ เหล่านี้จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 แน่นอนทั้งที่สัญญาณต่างๆ กำลังมาดีแต่หากล็อคดาวน์เพิ่มแล้วสามารถเร่งแก้ไขได้ทันก็จะทำให้สถานการณ์กลับมาพลิกฟื้นได้” นายเกรียงไกร กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2563 มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนและสามารถสร้างเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในระดับฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากโควิด-19 รอบใหม่บานปลายจนต้องล็อกดาวน์หลายพื้นที่อาจทำให้เม็ดเงินเหล่านี้จะเข้าไม่ถึงคนกลุ่มเดิมเพราะผู้คนจะหันไปสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้นแทน และที่น่ากังวลรัฐบาลจะหาเงินงบประมาณมาดูแลปัญหาเศรษฐกิจที่อาจชะงักงันที่มากขึ้นได้อย่างไร
นายเกรียงไกร กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2564 จึงต้องติดตามใกล้ชิดเพราะปัจจัยโควิด-19 รอบใหม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าจะกลับมาระบาดหนักรอบใหม่ในช่วงท้ายปีซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก นอกเหนือจากนี้ยังมีในเรื่องของภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งจะกระทบส่งออกในปี 2564 ที่ต้องติดตามใกล้ชิดอีกปัจจัยหนึ่งเนื่องจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯประกาศขึ้นบัญชีไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศในบัญชีประเทศต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่อาจออกมาตรการดูแลในลักษณะแทรกแซงค่างินบาทได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งล่าสุดรัฐได้เร่งหาทางแก้ไขแล้วคาดว่าในอีก 3-4 เดือนข้างหน้าปัญหาจะทุเลาลง