ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผย 10 ธุรกิจเด่นปี 64 “ค้าออนไลน์” อันดับพุ่งจากที่ 2 ในปี 63 ขึ้นเป็นอันดับ 1 มี “บริการแพทย์และความงาม” ครองอันดับร่วม เผยยูทูบเบอร์และรีวิวสินค้าแรงไม่แพ้กัน ขยับพรวดติดอันดับ 2 จากเดิมไม่ติด ส่วนธุรกิจดาวร่วง “เช่าหนังสือ-ผลิตโทรศัพท์ แฟกซ์-จำหน่ายอุปกรณ์ความจำ-สิ่งพิมพ์” ยังคงเข็นไม่ขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ประเมินธุรกิจเด่นปี 2564 มีจำนวน 10 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์) ครองอันดับหนึ่งร่วมกัน 2. ธุรกิจแพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางทางด้านอิเล็กทรอนิกส์) และธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจยูทูบเบอร์และการรีวิวสินค้า 3. ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต 4. ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ 5. ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิเคราะห์และจัดการข้อมูล 6. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจอาหารเสริม และสุขภาพ 7. ธุรกิจสตรีทฟู้ด และฟู้ดทรัค 8. ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และดีลิเวอรี่ ธุรกิจด้านฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี 9. ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ เป็นต้น 10. ธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมาย บัญชี ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์แพกเกจจิ้ง
“ผลจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการก็หันมาทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะง่าย เปิดร้านได้ 24 ชั่วโมง มีระบบขนส่งที่สนับสนุน จ่ายเงินได้ง่าย ซื้อได้ทั้งผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ทำให้เป็นธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดี และขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 จากปีที่แล้วอยู่อันดับ 2 ส่วนบริการทางการแพทย์และความงาม ที่ครองที่หนึ่งร่วม เพราะคนยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและความงาม อัตราค่าบริการของไทยถูก ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ แต่ที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจยูทูบเบอร์และการรีวิวสินค้า ที่พุ่งแรงติดอันดับ 2 จากที่ไม่เคยติดอันดับมาก่อน เพราะคนให้ความสำคัญกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การทำธุรกิจมีต้นทุนต่ำ แต่มีรายได้ต่อเนื่อง โดยเติบโตดีพร้อมกับธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายออนไลน์”
ส่วนธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต เติบโตจากการที่คนกังวลโควิด-19 และซื้อเพื่อการออมและใช้ลดหย่อนภาษี ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ยา เติบโตตามการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล เติบโตตามความต้องการนำข้อมูลไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เติบโตตามความต้องการที่สูงขึ้น และยังซื้อได้ง่ายผ่านแอปฯ อินเทอร์เน็ต และมีบริการส่งถึงที่ รวมถึงอาหารเสริมที่เติบโตตามการดูแลสุขภาพ ธุรกิจสตรีทฟู้ด และฟู้ดทรัค ได้รับแรงหนุนจากคนละครึ่ง นักท่องเที่ยวนิยม และปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้นผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่ ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ เติบโตรองรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์ การบริการรับส่งอาหาร ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้ธุรกิจรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตตามไปด้วย ธุรกิจพลังงาน ยังเติบโตตามความต้องการใช้พลังงานของประเทศ ส่วนธุรกิจตู้หยอดเหรียญ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และธุรกิจที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี จะเติบโตเพราะคนให้ความสำคัญกับการรักษาสิทธิ และภาวะเศรษฐกิจ ที่จะทำให้มีการผิดนัด ผิดสัญญา และธุรกิจแพจเกจจิ้ง ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของการทำธุรกิจและการค้าออนไลน์
สำหรับธุรกิจที่ประเมินว่าจะเป็นธุรกิจดาวร่วงในปี 2564 มีจำนวน 10 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ธุรกิจเช่าหนังสือ 2. ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ความจำ Storage media ก็คือ CDs, DVDs, Blu-Ray Discs, External Hard Drives, Memory Cards 3. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร 4. ธุรกิจร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจคนกลาง 5. ธุรกิจดังเดิมไม่มีดีไซน์ และใช้แรงงานเยอะ (เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น) 6. ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานจำนวนมากและขายในประเทศ ธุรกิจหัตถกรรม และเฟอร์นิเจอร์ไม้ (ดังเดิมที่ไม่ได้มีการปรับตัว) 7. ธุรกิจการซ่อมรองเท้า 8. ธุรกิจการค้าแบบดังเดิม ธุรกิจเครื่องปันดินเผา และเซรามิก 9. ธุรกิจผลิตผักและผลไม้อบแห้ง 10. ธุรกิจร้านถ่ายรูป
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้มีการประเมิน 10 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 10 ธุรกิจ ได้แก่ 1. สายการบิน
2. ธุรกิจนำเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ 3. โรงแรม 4. ธุรกิจของที่ระลึก 5. ธุรกิจจัดประชุมและแสดงสินค้า 6. ผับ บาร์ สถานที่ท่องเที่ยวกลางคืน 7. ธุรกิจสปา 8. อสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง 9. ธุรกิจโรงภาพยนตร์ 10. ร้านอาหารและภัตตาคาร