xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ถกภาครัฐ-เอกชนแก้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า-ขึ้นค่าระวางเรือ ช่วยภาคส่งออก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จุรินทร์” ลงพื้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ หารือร่วมภาครัฐและเอกชน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ ช่วยบรรเทาผลกระทบให้แก่ภาคการส่งออกของประเทศ 
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ตรวจเยี่ยมท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และหารือร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ

“ได้รับเรื่องจากการประชุม กรอ. พาณิชย์ พบว่าปัญหาเรื่องหนึ่งที่กระทบต่อการส่งออก คือ ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าและการขึ้นค่าระวางเรือ จึงต้องมาตรวจดูร่วมกับทุกฝ่าย โดยรายละเอียดจากการดูท่าเรือกรุงเทพวันนี้จะนำไปเป็นส่วนหนึ่ง ที่ต้องหาข้อสรุป และหาทางบริหารจัดการ โดยดูเรื่องกฎระเบียบที่สามารถจัดการได้โดยเร็วต่อไป”

สำหรับแนวทางที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เช่น ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charges) จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เข้าไปกำกับดูแล และขอให้คงอัตราค่าบริการภายในประเทศตามอัตราปี 2561 ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ขอให้เป็นไปตามค่าธรรมเนียมตลาดโลก แต่ต้องเป็นธรรม และห้ามมีการยกเลิกการจองตู้สินค้า ขณะที่เรื่องการผูกขาดการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจำกัดปริมาณตู้สินค้าที่มาจากสายการเดินเรือ ได้มอบให้ สขค.เข้าไปดูแล


ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า มาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำ ทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลง และมีการควบรวมกิจการ ส่วนการขาดแคลนตู้สินค้า เกิดจากสายเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว มีตู้สินค้าชะงักอยู่ที่จีนจำนวนมาก จากการเข้มงวดตรวจสอบสินค้า และติดค้างอยู่ที่สหรัฐฯ เพราะโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐฯ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรป

ดังนั้น จึงส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง (Freight) ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) มีการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น และการจองพื้นที่จัดสรรระวาง (ตู้สินค้า) มีความไม่แน่นอน อาจดำเนินการจองแล้วถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Space Allocation)


กำลังโหลดความคิดเห็น