สถาบันอัญมณีฯ เผยยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ เดือนต.ค.63 ไม่รวมทองคำ เพิ่ม 23.29% ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งตลาดและสินค้า หลังคนอัดอั้นไม่ได้ซื้อของมานานจากการล็อกดาวน์ และซื้อเตรียมไว้เป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนยอดรวม 10 เดือน รวมทองคำ เพิ่ม 20.81% หักออก ลด 43.69% คาดไตรมาส 4 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ และซื้อรับปีใหม่
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือนต.ค.2563 มีมูลค่า 752.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.66% หากหักทองคำออก มีมูลค่า 524.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.29% ส่วนยอดส่งออกรวม 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 16,882.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.81% หากหักทองคำออก มีมูลค่า 3,885.71 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 43.69%
ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในเดือนต.ค.2563 หากไม่รวมทองคำ พบว่า มีการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นทุกตลาด ขณะที่สินค้าก็ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับแพลทินัม รวมถึงสินค้ากึ่งสำเร็จรุปอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โดยผู้บริโภคในหลายประเทศเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นหลังจากอัดอั้นมานานในช่วงของการล็อกดาวน์ประเทศ รวมถึงการทยอยซื้อสินค้าเก็บไว้เป็นของขวัญสำหรับมอบให้คนพิเศษในช่วงเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปีนี้
ส่วนการส่งออกในช่วง 10 เดือน ที่ยังคงเติบโต มาจากการส่งออกทองคำที่มีสัดส่วนสูงถึง 77% ของการส่งออกทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 83.74% เพราะในไตรมาส 1 และ 2 มีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรมาก และเริ่มลดลงในไตรมาสที่ 3 แต่หากไม่รวมทองคำ การส่งออกภาพรวมก็ยังคงลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับแท้ เพชร และพลอยสี เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลง จากผลกระทบของโควิด–19 ในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และเติบโตสูงมากในเดือนต.ค.2563 ที่เป็นเดือนแรกของไตรมาส 4
“แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในไตรมาส 4 มีปัจจัยบวกจากมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และมีการซื้อเพื่อนำไปใช้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี และสต๊อกเป็นสินค้าสำหรับจำหน่ายในปีหน้า ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยผลักดันให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสองในสหรัฐฯ ยุโรป นำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศอีกรอบในหลายประเทศในยุโรป และการดำเนินนโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ รวมถึงเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขัน