ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจปีหน้าโต 2.6% แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ภาครัฐยังคงต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อน คาดนักท่องเที่ยวเริ่มเข้าประเทศได้ปลายปี
น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณจีดีพีไทยปีนี้มาเป็น -6.7% ดีขึ้นจากเดิมที่ -10% และคาดการณ์ปี 2564 จีดีพีเติบโต 2.6% (มีกรอบที่ 0.0-4.5%) โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ไม่สูงนักดังกล่าว สะท้อนภาพความไม่แน่นอน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ท่ามกลางการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีประเด็นเรื่องความเพียงพอและการเข้าถึงวัคซีน ทำให้คาดว่านักท่องเที่ยวคงจะทยอยทำได้อย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่การส่งออกไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 30% หลังจากที่คาดว่าจะหดตัว 7.0% ในปี 2563 โดยทิศทางส่งออกที่ฟื้นตัวช้ามาจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง โดยประเมินว่างบประมาณภาครัฐที่เหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ราว 5 แสนล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจโดยไม่น่าต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีการแพร่ระบาดรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง
"ปัจจัยความไม่แน่นอนหลักขึ้นอยู่กับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งแม้มีความคืบหน้าแต่การนำมาใช้จนมีผลบวกต่อเศรษฐกิจยังไม่เร็ว น่าจะปลายปีนี้หรือปีหน้า โดยสรุปปีหน้ามีปัจจัยบวกดีกว่าปีนี้ แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทำให้การฟื้นตัวเป็นอย่างช้าๆ"
น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในด้านของนโยบายการเงิน คาดการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นระยะ และหากมีสัญญาณลบของการฟื้นตัว กนง.ก็ยังมีพื้นที่ลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมได้อีก 0.25% หรือลดเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ แต่ทั้งนี้ คงต้องดำเนินการควบคู่ไปกับนโยบายอื่นๆ ที่น่าจะมีประสิทธิผลตรงจุดกว่า
ขณะที่โจทย์สำคัญในภาคการเงินคือการดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ได้รับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ยังมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของพอร์ตสินเชื่อรวมให้สามารถประคองการจ่ายหนี้ปกติได้ต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์จัดชั้นหนี้ของ ธปท.คงทำให้ NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้จะเพิ่มขึ้นเข้าหา 3.53% ณ สิ้นปี 2564 จากระดับประมาณการที่ 3.35% ณ สิ้นปีนี้ แต่ก็ถือเป็นระดับที่ไม่สูง