xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยชี้ปีหน้า ศก.ยังเสี่ยง ย้ำพร้อมดูแลลูกค้า-คุมเอ็นพีแอล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงไทยเผยปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง เน้นโตตามจีดีพี พร้อมดูแลลูกค้าที่มีปัญหาอย่างเต็มที่ ตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 5%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) 
กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่จบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างชาติสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและส่งออกได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในระยะต่อไป ขณะที่ภาครัฐจะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ทำให้การเบิกจ่ายต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดการณ์จีดีพีปีหน้าเติบโตที่ 3% ซึ่งสินเชื่อของธนาคารก็จะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของหลายฝ่าย นักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปีหน้า โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 9.5 ล้านคน ขณะที่สภาพัฒน์คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 5.5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจโรงแรมที่กระทบหนัก แต่มีธุรกิจที่เกี่ยวโยงไปมากมาย รวมถึงการว่าจ้างและรายได้ที่ลดลง รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงก็มีกดดันกำลังภายในประเทศไปด้วย ดังนั้น ธนาคารเองในฐานะเป็นกลไกอย่างหนึ่งในเศรษฐกิจ ก็จะต้องช่วยพยุงลูกค้าที่ประสบปัญหาอยู่ในสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ แม้จะไม่ทุกรายแต่ก็ต้องพยายามให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเองก็จะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย

พร้อมกันนั้น ธนาคารจะต้องดูแลในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ด้วยการพยายามช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้าที่ประสบปัญหา โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 มีเอ็นพีแอลที่ 4.21% คาดว่าสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 4% จะบริหารจัดการให้อยู่ในระดับไม่เกินกว่า 5% ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ ธนาคารมีนโยบายรักษาให้อยู่ในระดับ 125-130% ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าระบบที่ประมาณ 140% แต่เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำ โดยสินเชื่อภาครัฐ-สินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วน 40% สินเชื่อรายย่อย 40% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 14-15% จึงมองว่าอัตราการสำรองที่ระดับดังกล่าวจะเหมาะสำหรับโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารในขณะนี้

"นอกจากนี้ ธนาคารยังต้องดูแลในเรื่องการลดต้นทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเช่นกัน โดยมีเป้าหมายลด Cost to Income ให้อยู่ในระดับ 35% ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 42-48% และยังยืนยันที่ไม่มีการปลดพนักงาน แต่จะใช้วิธีการ Upskill หรือ Reskill แทน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของธนาคารอยู่ที่แล้วที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือผู้ใช้บริการของธนาคารที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง 40 ล้านราย หรือกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศ"

**ยันพ้นรัฐวิสาหกิจไม่กระทบการดำเนินงาน**
ส่วนกรณีที่กฤษฎีกาได้พิจารณาให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งถือหุ้นธนาคารกรุงไทยอยู่ 50% พ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจส่งผลให้ธนาคารกรุงไทยพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจนั้น นายผยง กล่าวว่า เป็นเรื่องของนิติเหตุเป็นเหตุให้แนวคิดทางกฎหมายเปลี่ยน แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของดำเนินงานของธนาคารอย่างมีสาระสำคัญ เพราะธนาคารกรุงไทยยังเป็นธนาคารที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้กำกับดูแล เป็นลูกค้ารายใหญ่ และเป็นพันธมิตรที่ธนาคารให้ความสำคัญมาตลอดซึ่งถือเป็นจุดแข็ง เพราะทำให้ธนาคารมีหลักการบริหารงานอย่างสมดุลที่ไม่มุ่งหวังกำไรสูงในระยะสั้น และการดูแลบริการกับคนไทยเป็นจำนวนมาก มีการเติบโตคู่ขนานกับระบบเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

"การที่เราเป็นธนาคารที่มีอยู่ถือหุ้นโดยรัฐซึ่งทำให้ต้องรองรับแนวนโยบายในบางส่วน ขณะที่ในทางธุรกิจก็ต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง ทำให้เราต้องทั้งแข่งขันในทางธุรกิจไปพร้อมๆ กับตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้เราแตกต่างและเป็นจุดแข็งที่เราจะจับมือกับพันธมิตรเดินหน้าเข้าในเซกเมนต์ที่มีความเข้าใจให้มากที่สุด ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ทางหนึ่ง"

ทั้งนี้ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้พยายามวางรากฐานในหลายๆ ส่วน ทั้งในด้านการเพิ่มความแข็งแกร่งในเชิงโครงสร้างเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญจากระดับ 100% มาจนถึงปัจจุบันที่ 125-130% ขณะที่คู่เทียบอยู่ในระดับ 140-150% และยังจะมีการสำรองเพิ่มตามความเหมาะสม ขณะเดียวกัน ได้บริหารคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อ โดยพยายามถอยออกจากพอร์ตสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงและมีความกระจุกตัว เช่น การปล่อยกู้กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวที่มีสัดส่วนสูงถึง 60% ของอุตสาหกรรมรวม หรือการปล่อยกู้ให้แก่กลุ่มสหกรณ์โดยไม่มีหลักประกันที่สูงถึง 70,000 ล้านบาท ลดลงมาเหลือ 30,000 ล้านบาท และมีหลักประกัน เป็นต้น พร้อมกันนั้น ได้เพิ่มผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถขาย CROSS SALE ให้มากขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ธนาคารต่อยอดธุรกิจต่อไปได้ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น