EIC SCB ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 64 เติบโต 3.8% และฟื้นตัวอย่างช้าไปเข้าสู่ระดับปกติในปี 65 ระบุความไม่แน่นอนยังสูง การส่งออกยังถูกกดดันจากค่าบาทแข็ง และจากปัญหาแผลเป็นของประเทศ แนะมาตรการรัฐระยะต่อไปเน้นฟื้นฟูมากกว่าเยียวยารับฟื้นตัวยั่งยืน
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า EIC SCB ได้ปรับประมาณจีดีพีไทยปี 2563 เป็น -6.5% จากเดิมที่ -7.8% จากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนในปี 64 คาดดารณ์ขยายตัวที่ 3.8% ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดิมที่ 3.5% โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากฐานที่ต่ำ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เม็ดเงินของภาครัฐทั้งจากในงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงการกระจายวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ในช่วงปลายปี โดยคาดว่าจะมีปริมาณนักท่องเที่ยวในระดับ 8 ล้านคน จากปี 62 ที่มีจำนวนเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่การส่งออกแม้ว่าจะได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แต่ก็ยังเป็นการฟื้นตัวในบางประเทศและอาจมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยคาดการณ์การส่งออกปี 64 ที่ 4.7% จากปีนี้ที่ -8%
"เรายังมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นตัว U ไม่ใช่ตัว V แม้จะมีวัคซีนเข้ามา เพราะกว่าวัคซีนจะมาถึงเราคงปลายปีหน้า และยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ขณะที่ปัญหาในเชิงโครงสร้างก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากบวกลบจีดีพี 2 ปีทั้งปี 63 และ ปี64 แล้ว ก็จะเห็นว่าจีดีพียังติดลบอยู่ แสดงว่าจีดีพียังไม่กลับเข้าสู่ระบบเดิม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นปี 65 จะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้ ดังนั้น จึงต้องพึ่งพาเม็ดเงินขับเคลื่อนจากภาครัฐอยู่ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือในระยะต่อไปเม็ดเงินที่ลงควรแบ่งสัดส่วนใช้ในการฟื้นฟูเพื่อสร้างศักยภาพรองรับการกลับมาทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพ มากกว่าการเยียวยา”
สำหรับเม็ดเงินของภาครัฐนั้น น่าจะยังเพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า จากจำนวนรวม 1 ล้านล้านบาท ปีนี้ใช้ไปครึ่งหนึ่งก็จะยังเหลือเพียงพอ โดยเม็ดเงินดังกล่าวคิดเป็น 0.53% ของจีดีพี และหากจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มก็ยังสามารถทำได้ เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพีนั้นกำหนดในภาวะปกติ แต่ในปัจจุบันที่เหตุการณ์ไม่ปกติจึงยังทำได้
นอกจากนี้ สาเหตุที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างช้านั้น มาจากเศรษฐกิจไทยมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) จะยังคงกดดันการฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน ไม่ว่าอัตราการปิดบริษัทที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อการว่าจ้าง หรือส่งผลต่อรายได้ในอนาคตที่จะลดลง และปัญหาศักยภาพการชำระหนี้ที่ลดลงจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 83% จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจเกิดปัญหาต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงคุณภาพหนี้ของสถาบันการเงิน
ด้านเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 29.50-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากสิ้นปีนี้ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมคาด 30.50-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นอีกหนึ่งที่กดดันการส่งออก ซึ่งคาดว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะคอยติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดการณ์คงในระดับ 0.50% ตลอดปีหน้า แต่ ธปท.จะใช้มาตรการอื่นที่เฉพาะจุดมากขึ้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การปรับเงื่อนไขของมาตรการ Soft loan และ การใช้เครื่องมือการค้ำประกันความเสี่ยงของ บสย. เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ตลอดจนการออกมาตรการเพิ่มเติม และปรับกฎเกณฑ์ เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการบริหารจัดการหนี้เสียอย่างมีประสิทธิภาพ