“บีโอไอ” ปักธงดันไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรหรือ Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียน หนุนส่งเสริมฯลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อน หลังโควิด-19พลิกโอกาสให้ไทยปลื้มส่งเสริมฯกิจการต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมแล้วกว่า 3 หมื่นลบ. เปิดตัวบ.ไบยาโฟโตฟาร์ม จ่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ปี’65 และบ.แนบโซลูท สตาร์ทอัพไทยที่น่าจับตา
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เป้าหมายของบีโอไอต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่(New S-Curve)โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อตอบโจทย์การผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและการแพทย์ครบวงจรหรือ Medical Hub ในภูมิภาคอาเซียนซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยอุตสาหกรรมการแพทย์ กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.63) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม171 โครงการมูลค่ารวมประมาณ 39,000 ล้านบาท
ทั้งนี้พบว่ากิจการในกลุ่มการแพทย์ มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเฉลี่ยปีละ 30 กว่าโครงการ แต่ 9เดือนแรกปีนี้มียอดพุ่งสูงขึ้นถึง 65 โครงการเพิ่มขึ้น132% ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2564 จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ของบีโอไอ
“การเป็น Medical Hub ไม่ได้แค่ว่าให้คนต่างชาติมารักษาแต่สิ่งสำคัญคือเราต้องพึ่งพาตนเองได้ก่อน ระดับหนึ่งโควิด-19 ตอนนั้นเราขาดแคลนหน้ากากอนามัยเราต้องไปเจรจากับผู้ผลิตที่ได้รับส่งเสริมฯบีโอไอให้เขานำมาขายในประเทศก่อนจะส่งออกจากนั้นเหมือนทำให้เราต้องหันกลับมาพึ่งพาตนเองให้ได้สุดเพราะมีเงินก็ซื้อไม่ได้เราจึงหาส่งเสริมกิจการใหม่ๆที่จะเข้ามาต่อยอดการผลิตให้มากขึ้นมองให้ครบตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงผลิตภัณฑ์และหากเป็นกิจการคนไทยได้เราก็ยิ่งยินดี”เลขาฯบีโอไอกล่าว
ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้บีโอไอได้พาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกิจการที่รับการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเป็นของคนไทยและยังเป็นกิจการที่สร้างฐานความรู้ให้แก่สังคมไทยได้แก่ บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และบริษัท แนบโซลูท จำกัด จัดตั้งโดยคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้ว่าจะใช้เงินลงทุนไม่สูงแต่นับเป็นก้าวเล็กๆที่จะสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทยที่ไม่อาจประเมินค่าได้
ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เดชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบ.ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ได้รับการส่งเสริมการงทุนจากบีโอไอในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช เงินลงทุน 3.94 ล้านบาท ผลิตเพื่อส่งออกกว่า 70% กล่าวว่า โครงการจะผลิตโปรตีนตัดแต่งจากการใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ออสเตรเลีย เพื่อเป็นแหล่งผลิตโปรตีนแบบชั่วคราว ถือเป็น รายแรกในไทยที่ใช้ใบยาสูบเป็นเจ้าบ้าน หรือที่เรียกว่า Host และเพาะเลี้ยงโปรตีน ตัดแต่งที่มียีนเป้าหมาย จากนั้นจึงสกัดโปรตีนที่ได้ ออกจากใบของต้นยาสูบ และทำให้บริสุทธิ์ เพื่อจำหน่ายเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง
ทั้งนี้บ.กำลังพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมี 6 ชนิดและกำลังจะทดสอบกับมนุษย์ 1 ชนิดในช่วงกลางปี 2564 และคาดว่าจะเห็นผลทดสอบช่วงปลายปี 2564 ต้นปี 2565 และคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ต้นปี 2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนที่จะลงทุนตั้งโรงงานและโครงสร้างพื้นฐานรองรับรวม 500 ล้านบาทโดยอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบระดมทุนคาดว่าจะมีกำลังผลิต 2 ล้านโดสต่อเดือนราคาจะต่ำกว่าการนำเข้า ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างวิจัยยารักษาโควิด-19ซึ่งกำลังรอทดสอบในสัตว์ทดลองคือหนูแฮมสเตอร์ที่รอการนำเข้ามาจากต่างประเทศที่ขณะนี้ทั่วโลกต่างต้องการมากจึงทำให้หาไม่ได้ง่ายนัก ดังนั้นหากสำเร็จก็จะทดสอบในมนุษย์ซึ่งขั้นตอนจะเร็วกว่าวัคซีนซึ่งจะทำให้กระบวนผลิตจะมีครบตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำและมีเป้าหมายที่จะส่งออกไปยังภูมิภาคนี้
“เรามุ่งที่จะนำงานวิจัยจากหิ้งไปสู่ห้าง และวิกฤติโควิด-19ทำให้เราเห็นว่าการพึ่งพายานำเข้าโรงพยาบาลต้องกักตุน ขณะเดียวกันยาเริ่ม Ship ไปสู่ไบโอเทคโนโลยีมากขึ้นซึ่งมีราคาแพง เราจึงมุ่งหวังการพัฒนาที่จะทำให้คนไทยพึ่งพาตนเองได้มียาราคาไม่แพงใช้และยังขยายให้กับเพื่อนบ้าน”ผศ.ภญ.ดร.สุธีรากล่าว
ภญ.พุทธิมน ศรีบนฟ้า ประธานกรรมการบ.แนบโซลูท จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะ จากCU Innovation Hub ได้รับส่งเสริมในกิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เงินลงทุน 3.46 ล้านบาท กล่าวว่า บ.ได้รับส่งเสริมฯกิจการให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ 2 เรื่อง คือ 1.การทดสอบประสิทธิภาพของชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ในการป้องกันเชื้อไวรัส โดยวิธีทดสอบการทะลุผ่านของเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถทำการทดสอบได้ทั้งในรูปแบบตัวอย่างผ้าของชุด PPE หรือทดสอบทั้งชุด PPE และการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ยา สารสกัด และสารออกฤทธิ์ เป็นต้น โดยใช้เทคนิคเซลล์เพาะเลี้ยง
ผศ.ภญ. ดร.จิตติมา ลัคนากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บ.แนบโซลูท จำกัด กล่าวว่า หากเป็นไปอยากให้รัฐได้วางโรดแมพในการสร้างเครือข่ายผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาของคนไทยให้ต่างชาติเห็นไม่ใช่แยกเป็นแต่ละรายดำเนินการเช่นขณะนี้