xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกภาคธุรกิจมะกัน ปลื้มต่างชาติชมเหมาะลงทุน ผุด คกก.แสวงหาความร่วมมือ 3 ด้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” ประชุมภาคธุรกิจสหรัฐฯ ปลื้มต่างชาติชื่นชมไทยเหมาะลงทุน เล็งแหล่งน่าลงทุนระดับเอเชีย หลังจัดการโควิดยอดเยี่ยม ผุด คกก.แสวงหาความร่วมมือ 3 ด้าน พร้อมเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน

วันนี้ (25 พ.ย.) เวลา 12.20 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงร่วมประชุมกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ว่าวันนี้ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เข้าประชุมร่วมกับนักธุรกิจสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาสำคัญและเรามีความคิดเห็นตรงกัน รายการที่จะปรับเปลี่ยน พัฒนา เรื่องของเศรษฐกิจไปได้อย่างไร ประเทศไทยเราก็ได้มีการเตรียมการและปฏิบัติการไปบ้างแล้วในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยว่าทำอย่างไรเราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากการพึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวอย่างเดียว เราจำเป็นต้องมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นในประเทศ มีการยกระดับฝีมือแรงงาน ผลิตนักศึกษาอาชีวะรุ่นใหม่ๆ ออกมา เราต้องเร่งทั้งสองทางทั้งผลิตคนและเครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยี

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ที่มาหารือกับเรามีทั้งหมด 10 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ 2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม 3. กลุ่มยาสูบ 4. กลุ่มอุตสาหกรรม 5. กลุ่มพลังงาน 6. กลุ่มโลจิสติกส์และบริการ 7. กลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศ 8. กลุ่มระดับที่ปรึกษา 9. กลุ่มประกันภัย และ 10. กลุ่มบริษัทบัตรเครดิต ทั้งหมดมีการประกอบการในประเทศไทยอยู่แล้วตนจึงชักชวนให้มาลงทุนสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัล

“ผมก็ได้กล่าวขอบคุณ และชื่นชมที่เขายังได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ให้ความมั่นใจใน เสถียรภาพ ความเข้มแข็งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของเรา ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้น 3 ด้านด้วยกัน มีความมั่นคงด้านสาธารณสุข การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาค และการพัฒนาทุนมนุษย์ และผมก็บอกเขาว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีช่องทางพิเศษเพื่อใช้ส่งสินค้าและเดินทางระหว่างกันระหว่างประเทศต่อประเทศ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอยู่ในมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ถ้าเราทำตรงนี้ได้ก็จะลดอุปสรรคในการขนส่งสินค้า และผมย้ำกับเขาว่าขอให้เชื่อมั่น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ในเรื่องของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตนได้มุ่งเน้นไปว่าเราให้สิทธิประโยชน์ที่มากพอสมควรและก็ต้องดูว่าถ้าหากเขาต้องการในภูมิภาคอื่น ซึ่งเราจะมีมาตรการพิเศษตรงนั้นเพิ่มขึ้นเขาได้อย่างไร เพื่อจูงใจให้ไปลงทุนตรงนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงการคลังกำลังดูแลในส่วนนี้อยู่ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ได้กล่าวชื่นชมว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เอื้ออำนวยมีสภาพแวดล้อมที่ดีกับการลงทุน และมีศักยภาพสูงในการลงทุนในโลกไม่แพ้ประเทศอื่นนี่คือสิ่งที่คนอื่นเขาชื่นชมเรา และตนก็ได้ย้ำไปว่าเราเป็นมิตรกันมายาวนานเกือบ 200 ปี เราก็ต้องคงความสัมพันธ์แบบนี้กันต่อไป และเขาเห็นดาวเป็นตลาดการค้าสำคัญในเอเชีย และหวังว่าเราจะมีโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูอาเซียนไปด้วยกัน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เขาชื่นชมเราในการรับมือแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จและเราได้หรือการหารือกันในเรื่องของวัคซีนว่าทำอย่างไร เมื่อผลิตออกมาแล้วหลายหลายบริษัทที่เกี่ยวข้องจะทำให้กลายเป็นสินค้าสาธารณะ สามารถเข้าถึงได้ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเพื่อประชากรโลกจะได้ปลอดภัย ทั้งนี้ ประธานหลายบริษัทที่เดินทางมาร่วมประชุมไม่ได้ก็ได้ชื่นชมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม การประชุม USABC ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแสวงหาความร่วมมือใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข 2. สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค 3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยินดีร่วมมือกับไทยในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงและราบรื่น พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะเปิดเสรีในการเดินทางข้ามพรมแดนมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว

เมื่อถามถึงการหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงานและนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายกฯ กล่าวว่า เป็นการหารือนอกรอบเป็นการส่วนตัว ได้พูดคุยกันว่าจะดูแลช่วยเหลือเยียวยาค่าครองชีพกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นได้มีการหารือเรื่องการลงทุนภาครัฐ โครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ราง ถนน เป็นการใช้จ่ายภาครัฐทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบข้างล่างทำอย่างไรจะดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามา วันนี้ก็ได้พูดคุยไปแล้ว เราต้องพิจารณาเรื่องของกฎหมาย ภาษี โดยยึดว่าประชาชนและประเทศจะได้ประโยชน์อะไร เราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลต่างๆ ของประชากรซึ่งไม่ใช่ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ต้องรู้ข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและให้เม็ดเงินลงไปอย่างทั่วถึง








กำลังโหลดความคิดเห็น