xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถอย! เบรกรถเก่าแลกใหม่รอเคลียร์เงื่อนไขชัด-เอกชนหนุนหวั่นกระทบตลาด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุพัฒนพงษ์” ยอมรับรถเก่าแลกรถใหม่ต้องชะลอออกไปก่อนหลังจากยังไม่มีความชัดเจนด้านต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบตลาดรถยนต์ รอจนกว่าจะเคลียร์ทุกอย่าง ด้านกลุ่มยานยนต์ ส.อ.ท.เห็นด้วยเหตุมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถ ยันเห็นด้วยหลักการแต่เงื่อนไขต้องชัดเจนทุกด้าน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยถึงโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปรายละเอียดต่างๆ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตลาดรถยนต์เกิดภาวะชะงักจึงเห็นว่าควรชะลอหรือเลื่อนโครงการดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อให้ทุกฝ่ายกลับไปศึกษาความเป็นไปได้ทั้งหมด

“ยังต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกมาก และยังไม่ได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะมีทั้งเรื่องภาษีและเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับรถที่จะเข้าโครงการก็ต้องอาศัยเวลา เมื่อยังไม่ได้ข้อสรุปก็ต้องสร้างความชัดเจนว่าโครงการนี้ให้ชะลอและเลื่อนออกไปก่อน จะได้ไม่กระทบตลาด” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อนเพื่อให้ทุกอย่างมีความชัดเจนในรายละเอียดเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่กำลังพิจารณาจะซื้อรถยนต์ได้ตัดสินใจซื้อเพราะบางส่วนมีการมองว่านโยบายที่ออกมาไม่ชัดเจนทำให้กระทบต่อการตัดสินใจซื้อได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลักการนั้นเห็นด้วยที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว แต่รัฐจะต้องมีความชัดเจนในแง่ของทั้งภาษีที่จูงใจ รถเก่าที่จะมาแลกรถใหม่นั้นรถใหม่หมายถึงรถที่ดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งยังต้องมาตีความหมายด้วยว่าเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ก็ยังแบ่งออกเป็นหลายประเภท ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เป็นต้น ขณะเดียวกัน รถยนต์ที่เป็นยูโร 5-6 จะรวมในนี้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการหารือกับทุกภาคส่วนก่อนที่จะประกาศความชัดเจน

“ผมคิดว่าเวลานี้เป็นโอกาสทองสำหรับผู้ซื้ออยู่แล้ว เพราะมีการลดแลกแจกแถมเพราะปัญหาโควิด-19 การเลื่อนออกไปเพื่อให้เงื่อนไขต่างๆ ชัดเจนถือว่าดี ซึ่งเอกชนไม่ได้คัดค้านในหลักการรถเก่าแลกรถใหม่หากจะกระตุ้นตลาด แต่ต้องชัดเจนหากรัฐจะส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าก็ควรจะเน้นการผลิตในประเทศที่การผลิตในประเทศขณะนี้ยังไม่มี และจะเริ่มในช่วงปลายปี 64 และต้นปี 65 เป็นต้นไป ถึงตอนนั้นหากจะกระตุ้นก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เงื่อนไขต่างๆ ต้องชัดเจนและประกาศทันที ไม่เช่นนั้นจะส่งผลให้ตลาดรถชะงักได้” นายสุรพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น