“ศักดิ์สยาม”เร่งกทพ.สรุปปมร้องด่วนพระราม3 คาดเริ่มประมูลใหม่2สัญญาไม่เกินมี.ค. 64 เตรียมชง คจร.เร่งผุดทางด่วนขั้นที่3 ช่วง N2 เร่งใช้เงินTFF พร้อมเพิ่มทางเลือกเจรจาม.เกษตรปรับแบบใช้อุโมงค์ลอด
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกว่า กรณีที่การประมูลยังมีปัญหาอยู่ 2 สัญญานั้น จากการพิจารณาตามขั้นตอนการประมูล มีข้อมูลพบว่า หากเดินหน้าต่อไป จะทำให้มีข้อกังขา ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)จำเป็นต้องเริ่มการประมูลกันใหม่ ซึ่งกทพ.จะต้องสรุปข้อมูลรายละเอียดและคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาในเดือนธ.ค.นี้
โดยคาดว่า ทั้ง 2 สัญญาจะเริ่มการประมูลใหม่ ในเดือนมี.ค.2564 รวมถึงต้องปรับแผนเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างของทั้ง 2 สัญญา เพื่อให้งานแล้วเสร็จสอดคล้องกับอีก2 สัญญา ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว โดยมีเป้าหมายในการเปิดให้บริการได้พร้อมกันตลอดสาย
สำหรับ สัญญาที่มีปัญหา คือ สัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม.และสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9 – ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม.
@ ยังไม่พับด่วนขั้น 3 ช่วง N1 เจรจาม.เกษตรใช้อุโมงค์ลอด
สำหรับ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ได้นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จะนำเสนอ ต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในเดือนธ.ค. นี้ เพื่อขออนุมัติดำเนินการก่อสร้าง ในช่วง N2 จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กม. วงเงินประมาณ 17,000 ล้านบาท ไปก่อน
ทั้งนี้เพื่อลด กระทบต่อแผนการลงทุน และแผนการใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFF) ซึ่งกทพ.ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท
และเนื่องจาก ขณะนี้. ช่วง N1 ยังติดปัญหาการก่อสร้างช่วงผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้มีการหารือกับทางม.เกษตร ในรูปแบบ ก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีหลังคาครอบ พร้อมระบบสเปรย์น้ำ ซึ่งจะแก้ปัญหาด้านฝุ่นละอองฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางเสียงได้ แต่หากทางม. เกษตรฯ ไม่ยินยอมยังมีรูปแบบของอุโมงค์ลอด ใช้ม.เกษตรแทน แต่หากม.เกษตรฯยังไม่ยอมอาจต้องดูรูปแบบอุโมงค์ลอดพื้นที่ของเอกชนแทน แต่แนวทางนี้จะมีค่าเวนคืนที่ค่อนข้างสูงประมาณ 20,000 ล้านบาท
“มีการออกแบบ รูปแบบก่อสร้างช่วงผ่านม.เกษตรทั้ง ทางยกระดับ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด และประหยัดงบประมาณ แต่ทางม.เกษตรฯ ยังมีข้อกังวล ยังมีรูปแบบอุโมงค์ ในขณะที่ กทพ. จะขอแบ่ง ช่วง N2 ประมูลก่อสร้างไปก่อน “
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ยังได้มอบแนวการบริหารงานกับกทพ. เนื่องในโอกาส ก่อตั้งกทพ.ครบรอบ 48 ปี ว่า ให้กทพ.วางแผนในการก่อสร้าง ทางด่วนให้รวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้หลักการ 1. สำรวจเส้นทางที่มี จุดปัญหา เป็นคอขวด ปัญหาจดตัด ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้รับมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้กทพ.ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบ ภายใน1 ปี ซึ่งการศึกษาใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งกทพ.จะนำผลเสนอคมนาคมและครม.ต่อไป ซึ่งได้เน้นในเรื่องการแปรผลศึกษาไปสู่การปฎิบัติ โดยให้จัดลำดับความสำคัญ แก้ไขจุดใหญ่ ที่มีปัญหามากที่สุดก่อน
2 . พัฒนาโครงข่ายทางด่วนสายใหม่ โดยบูรณาการทำงานเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมทางหลวง มีการตั้คณะกรรมการร่วมและใช้เทคโนโลยีใหม่ ในการก่อสร้างเพื่อลดปัญหาการจราจรหรือ ทำให้การจราจรที่ชะลอตัว รวมถึงเร่งศึกษา.เพื่อดำเนินงานระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow) หรือ M-Flow เพื่อแก้รถติดหน้าด่านจากการหยุดรถเพื่อชำระค่าผ่านทาง โดยจะต้องดำเนินการให้เสร็จในปี2564
3. ดำเนินงานภายใต้ประโยชน์ประชาชนและภาครัฐ เป็นสำคัญ กรณีร่วมทุนกับเอกชน ให้ยึดหลักทำตามระเบียบกฎหมายให้ถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยต้องระวังไม่ให้มีประเด็นที่จะเกิดการฟ้องร้องกันได้ในภายหลัง