ส่งออก ต.ค.ดีกว่าที่คาด ทำได้มูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% เผยได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การขนส่งเป็นปกติ การสั่งซื้อสินค้าดีขึ้น หลายประเทศอัดฉีดเศรษฐกิจ และสินค้าดาวรุ่งยังส่งออกได้ดี ทั้งอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันติดเชื้อ ด้านตลาดส่งออกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดทั้งปี 63 ส่งออกติดลบ 7% แต่ปีหน้าบวกแน่
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ และยังเห็นสัญญาณดี เพราะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าที่เป็นภาคการผลิตจริง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.32% เกินดุลการค้า 2,046.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออก 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 192,372.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.26% การนำเข้ามีมูลค่า 169,702.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.61% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 22,670.21 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวมาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลายประเทศผ่อนคลายการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และมีการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าดาวรุ่งก็ยังส่งออกได้ดี ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสินค้าหลายตัวยังส่งออกได้ลดลง โดยเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลด 8.8% เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 4.7% เช่น ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ทางด้านตลาดส่งออก มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดหลักเพิ่ม 4.8% เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 17% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลดเหลือ 0.4% มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องระวังเรื่องการล็อกดาวน์ ญี่ปุ่นลด 5.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 13.5% โดยจีน ลด 6.1% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 27.2% CLMV ลด 17% ซึ่ง CLMV ยังน่าห่วงจากโควิด-19 ระบาดในพม่า เอเชียใต้ เพิ่ม 15.6% โดยอินเดีย เพิ่ม 13.7% บวกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 2.8% โดยตะวันออกกลางลด 18.1% ทวีปแอฟริกาลด 16.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 2% แต่ทวีปออสเตรเลียเพิ่ม 4.2% ละตินอเมริกาเพิ่ม 12.9%
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,329 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 7% แต่ถ้าส่งออกได้เกินเดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก็จะติดลบน้อยกว่า 7% โดยการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 จากสถานการณ์การค้าโลกจะดีขึ้น หลังจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความผันผวนน้อยลง การมีวัคซีนโควิด-19 แต่คงต้องใช้เวลาอีก และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะส่งผลให้การค้าในเอเชียดีขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทำให้คู่ค้าหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน การขาดแคลนตู้สินค้า ที่ขณะนี้พบว่าไปรออยู่ที่จีนเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน และราคาน้ำมันที่แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิม ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน