xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางตลาดหุ้นไทยกับนโยบายเศรษฐกิจของมหาอำนาจโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ปรินทร เดชศรี
บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
หลังจากผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กันไปแล้วในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งทาง “โจ ไบเดน” มีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวผันผวนอย่างมากโดยทันทีตอบสนองต่อความคาดหวังในการมาของไบเดน ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็เช่นกัน แล้วหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นหากผลการเลือกตั้งออกมาเช่นนี้และตลาดจะไปต่อตามความคาดหวังนั้นหรือไม่ โดยขอหยิบยกผลกระทบต่อตลาดจากนโยบายมานำเสนอ ดังนี้

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาษีในสหรัฐฯ ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหาเสียง แต่ประเด็นการค้าโลกมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งจะส่งผลที่แตกต่างออกไปในรายกลุ่มธุรกิจในตลาดบ้านเรา โดยบรรยากาศการค้าของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นจากการมาของโจ ไบเดน ยุทธศาสตร์ของไบเดนจะเป็นการทำสงครามทางอ้อมไม่เหมือนสมัยของทรัมป์ ผ่านความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯ ในเวทีโลก เช่น การกลับเข้าร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) หรือสานต่อข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

นัยต่อการค้าของไทยนั้น มีโอกาสที่จะเห็นยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบพหุภาคี (Multilateral) รวมถึงให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน นอกจากนี้ โอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ของไทยก็มีเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากที่ถูกตัดสิทธิไปถึงสองครั้งในสมัยของทรัมป์ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่สหรัฐฯ จะกลับมาสานต่อข้อตกลง CPTPP อีกครั้ง ซึ่งมองว่าจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของประเทศ ประเทศไทยจะมีโอกาสในเวทีโลกมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เช่น ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ภาคการขนส่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกรมศุลกากรภาคส่งออกปี 2562 กลุ่มธุรกิจดังกล่าวคิดเป็นประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทั้งหมดของประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าไม่น้อยเลยเมื่อคิดถึงความสำคัญต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศ แต่ทว่าในบางอุตสาหกรรมก็มีโอกาสที่จะเป็นข้อเสียเช่นกัน

หากศึกษาข้อตกลง CPTPP ในเชิงลึกจะพบว่าข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการเกษตรไทย ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 5 แสนล้านบาทในปี 2562 (ข้อมูลจากกรมศุลกากร) ซึ่งหากไทยมีความจำเป็นต้องเข้าร่วม CPTPP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยอาจจะต้องนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกมากขึ้น เช่น กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ที่อาจทำให้เกษตรกรไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะการใช้และการเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไทยซึ่งถือเป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรม แต่กลับเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกประเทศอื่นในกลุ่มสามารถนำพันธุ์พืชไทยไปวิจัยและพัฒนาต่อ และอาจจะนำไปถึงการจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์พืชของไทยได้ ซึ่งหากมองในมุมประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวและส่งออกอย่างประเทศเราถือว่าเป็นสิ่งที่สูญเสียอย่างมากในอุตสาหกรรมการเกษตร และจะส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรไทยทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น และต้นทุนที่สูงขึ้นจากการขอใช้สิทธิในการปลูกพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาและได้รับการคุ้มครอง

อีกหนึ่งความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยอาจถูกลดทอนลงจากเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาษีในสหรัฐฯ ที่จะตามมาพร้อมกับชัยชนะการเลือกตั้งของไบเดน จากการอัดฉีดเม็ดเงินขนาดใหญ่ประมาณ USD2.2Trn และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มคงท่าทีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมในระยะยาวสนับสนุนให้มีสภาพคล่องที่จะเพิ่มเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงแนวโน้มการขึ้นภาษีนิติบุคคลซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ ผ่านการปรับเพิ่มอัตราภาษี ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะกลางถึงระยะยาว กระทบค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าขึ้นได้ในอนาคต

สรุปภาพรวมได้ว่า หากผลการเลือกตั้งเป็นทางไบเดน มองว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์ต่อเนื่องในระยะกลางถึงระยะยาวจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่อ้างอิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (Global Plays) นโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง เช่น นโยบายการค้าโลกจะส่งผลบวกต่อเอเชียมากขึ้น และยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ กลุ่มวัฏจักร หรือกลุ่มขนส่ง ที่จะมีการฟื้นตัวได้เร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและส่งต่อไปจนถึงการเติบโตในอนาคตจากการค้าโลกที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร โดยหากมีการเจรจาและเข้าร่วมกลุ่มการค้าต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้นในอนาคต อาจจะต้องแลกมาด้วยผลเสียต่อภาคเกษตร โดยในระยะยาวนั้นเกษตรกรไทยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ และอาจทำให้รายได้ภาคเกษตรกรของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อของเกษตรกร และรวมไปถึงภาคแรงงานไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น