ข่าวที่คนให้ความสนใจคือดีลใหญ่ค้าปลีกเมืองไทย ที่กลุ่มซีพีเข้าซื้อเทสโก้ โลตัส ในขณะที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งอยากให้ควบคุมธุรกิจนี้ให้ทำธุรกิจแบบเดิม เพราะกลัวว่าผู้ประกอบการจะถูกเอาเปรียบ แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนมองมิติการแข่งขันในภาพใหญ่ แสดงความเป็นห่วงว่าทำธุรกิจเหมือนเดิมคงรอดยากเพราะความเข้มข้นในการแข่งขัน หากซีพีไม่รีบติดอาวุธให้กับเทสโก้ โลตัส โดยรีบปรับตัวอย่างรวดเร็ว จะไม่สามารถแข่งกับผู้เล่นระดับโลกและไม่สามารถอยู่รอดได้ เพราะผู้เล่นในวงการค้าปลีกอย่างจีน ซึ่งซีพีโลตัสต้องแข่งกับวอลมาร์ท และที่สำคัญอาลีบาบาก็เข้ามาเป็นผู้เล่นค้าปลีกในรูปแบบออนไลน์-ออฟไลน์
ปัจจุบันการแข่งขันแบบออนไลน์-ออฟไลน์ไม่มีขอบเขต และการแพ้ขนะอยู่ที่ความรวดเร็วในการปรับตัว จึงเป็นโจทย์สำคัญหลังเทสโก้ โลตัส กลับมาอยู่ในการบริหารของกลุ่มซีพี ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าตลาดค้าปลีกทั่วโลกมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ล่าสุด อาลีบาบา ซึ่งถือว่าเป็นผู้เล่นจากยุคดิจิทัล ทำธุรกิจออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ ได้ทุ่ม 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐผงาดถือหุ้นใหญ่สุด ‘Sun Art’ บิ๊กไฮเปอร์มาร์เกตจีนเพื่อมาติดปีก ทำธุรกิจเชื่อมฟ้าเชื่อมดิน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอาลีบาบาแถลงเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ว่าจะลงทุนจำนวน 2,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 94,652 ล้านบาท เพื่อถือหุ้นใน Sun Art Retail Group ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์ทชั้นนำในจีน นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่อาลีบาบามุ่งจะเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ด้วยเช่นกัน เท่ากับว่าอาลีบาบาจะทำธุรกิจไฮเปอร์มาร์ทแข่งกับโลตัสของกลุ่มซีพีในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นที่แข็งแกร่งอย่างวอลมาร์ท ที่เป็นผู้เล่นหลักในจีนอีกด้วย
แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกต้องเผชิญกับมรสุมหลายด้าน ทั้งสภาพเศรษฐกิจไม่สดใสและกำลังซื้อที่หดตัว แต่สำหรับเทสโก้ โลตัส ดูเหมือนว่าไม่มีวิกฤตครั้งไหนจะท้าทายหนักหนาสาหัสเท่ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ คุณสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส บอกว่า เนื่องจากเริ่มต้นปีงบประมาณของเทสโก้ โลตัส (มี.ค. 2563-เม.ย. 2564) ไตรมาสแรกก็เจอผลกระทบทันที ทั้งในด้านตัวเลขยอดขายและกำไร เพราะในส่วนของซูเปอร์มาร์เกต แม้จะสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับร้านค้าเช่าที่ต้องปิดให้บริการ
“นับตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 เราได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบแตกต่างกันในแต่ละระยะ ในช่วงแรกที่โควิด-19 ระบาด เราได้รับผลกระทบเชิงบวก โดยมีผู้บริโภคมาจับจ่ายซื้อสินค้าในร้านเป็นจำนวนมาก เพราะผู้คนกังวลว่าจะมีการระบาดในระยะยาว แต่เป็นเพียงระยะสั้นๆ 2-3 วันเท่านั้น หลังจากนั้นค่อนข้างได้รับผลกระทบหนักเมื่อมีมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาด โดยให้ห้างสรรพสินค้าปิดให้บริการชั่วคราว แต่เปิดให้บริการได้เฉพาะร้านอาหาร และต้องซื้อกลับไปรับประทานเท่านั้น ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการในซูเปอร์มาร์เกตลดลง”
หนึ่งในเทรนด์ที่เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดขึ้นก็คือ การชอปออนไลน์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของลูกค้าทั้งหมดที่เข้ามาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงโควิด-19 และมีการซื้อต่อเนื่อง
“ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาดหนัก ยอดขายออนไลน์ของเราเติบโตขึ้น 3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงปกติ เพราะคนไม่เดินทางออกจากบ้าน ตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคจึงเริ่มมีความเคยชินกับดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งคำว่าดิจิทัลของเราไม่ใช่หมายถึงการชอปปิ้งออนไลน์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความคุ้นเคยในการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ อีกด้วย ซึ่งจะช่วยต่อยอดไปสู่การใช้งานได้อีกมากมาย”
ขณะที่ช่องทางการจัดจำหน่าย มีการขยายศักยภาพในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการการชอปออนไลน์มากขึ้น โดยสามารถจัดส่งสินค้ารวดเร็วภายใน 3-4 วัน และยังพัฒนาระบบให้จัดส่งสินค้าได้ภายใน 1 วัน รวมถึงเพิ่มบริการพื้นฐาน เช่น Chat & Shop ลูกค้าอยากได้สินค้าอะไรสามารถแชตเข้ามาเพื่อสอบถาม เมื่อถูกใจและต้องการสั่งซื้อ ลูกค้าสามารถแวะมารับสินค้าในไฮเปอร์มาร์เกตได้ทุกสาขา