วันนี้ (22 พ.ย.2562) เทสโก้ โลตัส ร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหอการค้าไทย ขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติ จัดงานประชุม 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste นำเสนอกรอบการทำงาน Target, Measure, Act เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 (UNSDG Target 12.3) ในการลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030
พร้อมสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ทั้งภาคการผลิต ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ร้านค้าปลีก โรงแรม ภัตตาคาร ไปจนถึงระดับครัวเรือน ตลอดจนภาคประชาสังคม ภาครัฐ และนักวิชาการ ร่วมระดมสมองและแสดงเจตนารมณ์แก้ปัญหาขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากในปี 2560 เทสโก้ โลตัส ประกาศเจตนารมณ์ในการเป็นผู้นำลดขยะอาหารในประเทศไทย โดยเริ่มจากการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจค้าปลีกของตนเองตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังสามารถรับประทานได้ผ่านโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” หลังจากนั้น เทสโก้ โลตัส ได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการขยายผลการลดขยะอาหาร ด้วยการเป็นธุรกิจค้าปลีกแรกในประเทศไทยที่วัดและเปิดเผยข้อมูลขยะอาหารภายในธุรกิจของตนเองอย่างโปร่งใส เมื่อเดือนกันยายน 2562
ด้วยวิกฤติขยะอาหารที่ส่งผลอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และการเสียโอกาสทางสังคม เทสโก้ โลตัส ได้เดินหน้าขยายผลผลักดันการลดขยะอาหารในประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการจัดงานประชุมประจำปี 2019 Thailand’s Annual Conference on Food Waste ภายใต้ธีม Target, Measure, Act: A Recipe for Success เพื่อเป็นเวทีแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการลดขยะอาหารภายใต้กรอบการทำงานระดับนานาชาติแก่ผู้เข้าร่วมงานที่มาจากทุกภาคส่วนของห่วงโซ่อาหาร นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับหอการค้าไทยในการประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้เครือข่ายสมาชิกหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศรวมกว่า 120,000 ราย มาร่วมกันลดขยะอาหาร และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า “ในฐานะธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายอาหารในปริมาณมาก เทสโก้ โลตัส ตระหนักถึงความรับผิดชอบของเราในการลดขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเอง แต่เหนือไปกว่านั้น เรายังสามารถมีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เกิดขึ้นได้ในวงกว้างขึ้น เนื่องจากเราอยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร ผู้ประกอบธุรกิจอาหาร และผู้บริโภค กลุ่มเทสโก้ ได้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเองลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 และนอกจากนั้นยังมีเป้าหมายช่วยให้ประเทศที่เราประกอบธุรกิจอยู่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สามารถลดปริมาณขยะอาหารได้ลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี ค.ศ. 2030 เช่นกัน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 จึงเป็นที่มาของความพยายามของเราในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการลดขยะอาหารให้เป็นวาระแห่งชาติและขยายผลครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหารในประเทศไทย”
“เพื่อขับเคลื่อนการลดขยะอาหารภายในธุรกิจของเราเอง กลุ่มเทสโก้ ใช้กรอบการทำงาน Target, Measure, Act ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับสากล นั่นคือ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและประกาศให้เป็นสาธารณะ (Target) การวัดผลอย่างต่อเนื่องและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส (Measure) และการลงมือทำเพื่อลดปริมาณขยะอาหารให้ได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ (Act) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานประชุมประจำปีครั้งนี้ เพราะเราเชื่อว่าการลดขยะอาหารที่ได้ผล จำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ถูกต้องและมีการทำงานที่เป็นระบบ โดยนอกจากทีมงาน เทสโก้ โลตัส แล้ว ยังมีผู้แทนจากองค์กรอื่นๆ จากหลากหลายอุตสาหกรรม มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ความสำเร็จ ความท้าทาย และทางออก ในการบริหารจัดการและลดขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นการดำเนินงานการเก็บข้อมูลและการจัดการเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร แต่เราได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้และให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติมาโดยตลอด ในอนาคตประเทศไทยอาจจะต้องมีแผนปฏิบัติการหรือ Road Map เพื่อกำหนดมาตรการและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับแต่ละภาคส่วน เรื่องของขยะอาหารเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ กระทบหลายประเด็นนอกเหนือจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของการจัดการขยะ หรือการลดก๊าซเรือนกระจก แต่เกี่ยวข้องถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การขจัดความหิวโหย สุขภาพอนามัยของประชาชน และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ต้องมีการร่วมกันทำงานกับหลายกระทรวง และที่สำคัญความร่วมมือกับภาคเอกชน
"ผมขอแสดงความชื่นชมทาง เทสโก้ โลตัส ที่เป็นผู้นำในด้านการจัดการขยะอาหารของทางภาคผู้จำหน่ายในประเทศไทย การจัดงานประชุมในครั้งนี้ รวมถึงการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน จะนำไปสู่การขับเคลื่อนวาระการลดขยะอาหารให้เป็นไปอย่างมีระบบ แบบแผน และขยายวงกว้างมากขึ้น ไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ”