xs
xsm
sm
md
lg

ฝั่ง “เทสโก้” ลุ้นปิดดีล 3.38 แสนล้าน หวั่นหากสะดุดเกิดภาวะสุญญากาศหาคนซื้อต่อไม่ได้!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศไทยในภาวะโควิด และความไม่แน่นอนทางการเมือง เมื่อมีประเด็นใหญ่อย่างการซื้อขายกิจการเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยที่หลายคนมองข้ามความจำเป็นในการซื้อขายครั้งนี้ว่า “เทสโก้ จำเป็นต้องขาย เพราะนโยบายเลิกทำธุรกิจในเอเชีย” หากไม่ใช่ซีพีเป็นผู้ซื้อ หรือดีลนี้สะดุด ยังไงเทสโก้ก็ต้องขายให้ใครสักคนอยู่ดี หากวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย ไม่ว่าคู่แข่งที่ร่วมประมูลเดิม หากดีลซีพีไม่สำเร็จ ไม่มีรายใดมารับช่วงซื้อต่อไปได้ เพราะติดเงื่อนไขเดียวกันกับซีพีทั้งสิ้น ดังนั้น คนที่ไม่ต้องการให้ดีลนี้เกิดขึ้นต้องหาทางออกให้เทสโก้บริษัทแม่ด้วย เพราะยังไงก็ต้องขายธุรกิจในประเทศไทย ภาวะสุญญากาศจะเกิดขึ้นทันที

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของเทสโก้กับการขายกิจการในเอเชียถือเป็นการเลิกทำธุรกิจในเอเชียทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ เทสโก้ได้ขายกิจการในเกาหลีใต้มาแล้ว ในราคา 4 พันล้านปอนด์ หรือราว 160,000 ล้านบาท และหลังจากขายเทสโก้จะคงเหลือการดำเนินงานในสหราชอาณาจักร และในยุโรปบางประเทศเท่านั้น ดังนั้น ดีลมูลค่า 3.38 แสนล้านบาท คงมีคนมีกำลังซื้อเพียงไม่กี่คนในประเทศไทย หากดีลนี้สะดุด ผู้เล่นระดับโลกอย่างวอลมาร์ทของอเมริกาก็จับตาดูอยู่ เพราะนอกจากราคาเทสโก้จะร่วง หากดีลนี้ไม่สำเร็จแล้วยังเป็นโอกาสให้ผู้เล่นระดับโลก เช่น วอลมาร์ทสามารถใช้โอกาสนี้บุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย

ในปีที่ผ่านมา นายสก็อตต์ ไพรซ์ รองประธานบริหาร บริษัท วอลมาร์ท อินเตอร์เนชั่นแนล ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เข้ามาพบหารือกับรัฐบาลไทย โดยนายสก็อตต์ได้ให้ข้อมูลว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจในเครือบริษัททั่วโลกมีความเห็นตรงกันว่าถ้าจะเข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ต้องเข้ามาที่ประเทศไทยเพราะมีการพัฒนาศักยภาพในหลายด้าน รวมทั้งแสดงความสนใจที่จะมาลงทุนในอีอีซีด้วย

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในช่วงโควิดและวิกฤตเศรษฐกิจ ทำเอาดีลใหญ่ย้ายฐานการผลิตหนีจากไทย เพราะปัจจัยความไม่แน่นอน ทำให้เทสโก้เองก็วางใจไม่ได้ หากดีลการซื้อขายกับซีพีสะดุดจะมีผู้เล่นมาซื้อต่อหรือไม่ เพราะยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเมื่อใด และต้องใช้เวลาในการเริ่มเจรจาและขั้นตอนต่างๆ ใหม่อีกเป็นปี ซึ่งจะเสียหายต่อธุรกิจ และอาจกระทบต่อการจ้างงานจำนวนมาก

นอกจากนี้ เงื่อนไข 7 ข้อของคณะกรรมการแข่งขันทางค้า (กขค.) ที่ออกมาก็ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้รับซื้อด้วย ดังนั้น หากเกิดปัญหาและต้องหาผู้ซื้อรายใหม่ อาจใช้เงื่อนไข 7 ข้อ ที่ทำให้ต้นทุนการดำเนินการเพิ่มขึ้นอีกกว่า 12,000 ล้านบาท ทำให้ดีลใหม่เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น

หรืองานนี้ฝ่ายสกัดและฝ่ายไม่เห็นด้วยกับดีล จะเป็นการเปิดช่องทางลงให้ซีพี ในภาวะวิกฤตโควิด รอดจากการซื้อในราคาสูงก่อนวิกฤต มีทางลงแบบสวยๆ แล้วไปเน้นขยายในเทสโก้ มาเลเซียแทน ที่ล่าสุดบอร์ดแข่งขันทางการค้ามาเลเซียไฟเขียวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะการขยายการลงทุน การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ลงทุนสำคัญที่สุด และโจทย์ที่สำคัญที่ต้องคิดต่อคือ จะรักษาการจ้างงาน และสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจให้กับคู่ค้าได้อย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น