xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลไม่เคลียร์! ครม.เบรกต่อสัญญา BTS เดินรถสีเขียว “คมนาคม” ติงค่าโดยสาร 65 บาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครม.ตีกลับต่อสัญญา BTS เดินรถไฟฟ้าสีเขียว 30 ปี มหาดไทยถึงเรื่องทบทวนเพิ่มเติม หลัง “คมนาคม” ตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น ติงค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายไม่ถูกจริง ขณะที่พบทำขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ไม่ครบถ้วน ชี้ยังมีคดีที่ ป.ป.ช.หวั่นมีปัญหาในอนาคต

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย.ได้มีการพิจารณาผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่เนื่องจากยังมีข้อสังเกตจากผู้เกี่ยวข้องในหลายประเด็นที่ยังไม่สามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจน ทำให้ ครม.ยังไม่สามารถพิจารณาอนุมัติต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้ถอนเรื่องกลับมาทบทวนและทำข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง

สำหรับข้อเสนอการต่อสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จากสิ้นสุดสัญญาปี 2572 ต่อไปอีก 30 ปี หรือจนถึงปี 2602 กำหนดอัตราค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท รวมระยะทาง 66.4 กิโลเมตร โดยเอกชนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งหมด รวมถึงภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้เงินกู้ที่กรุงเทพมหานครมีต่อกระทรวงการคลังเป็นจำนวนไม่เกิน 44,429 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ทำความเห็นรวม 4 ข้อ โดยที่ประชุม ครม.ได้นำความเห็น และข้อสังเกตมาหารือ ซึ่งพบว่ามีหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน เช่น กรณีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น แต่ยังคงต้องคงหลักการให้ครบถ้วนตามรายการและขั้นตอนที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนดให้ทำ

ขณะที่ไม่มีการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (ERR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุน ปริมาณผู้โดยสาร และราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายคงที่ตลอดอายุสัมปทานนั้น มีข้อสังเกตว่าหากในอนาคตมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น รายได้ส่วนที่จะเพิ่มขึ้นจะเป็นอย่างไร ขณะที่หากเปรียบเทียบค่าโดยสาร 65 บาท กับอัตราค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินระยะทาง 48 กม. เก็บสูงสุดที่ 42 บาท

กระทรวงคมนาคมจึงเห็นว่าการคิดอัตราค่าโดยสารควรที่จะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันผู้มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้าจำนวน 130 บาทต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ

ดังนั้น เมื่อมีการเปรียบเทียบราคาค่าโดยสารระหว่างการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบันพบว่ามีระยะทางเพียง 50 กม. เก็บค่าโดยสารเพียง 42 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวมีระยะทาง 15 กม. และจะหมดสัญญาสัมปทานระหว่าง BTS กับภาครัฐจะหมดลงในอีก 9-10 ปีข้างหน้า จึงไม่มีความจำเป็นที่จะขยายสัญญาสัมปทานให้เอกชนอีก 30 ปี

อีกทั้งการใช้วิธีเจรจานั้นไม่มีการปรียบเทียบข้อมูลที่ครบถ้วน หรือข้อมูลจากการเจรจากับเอกชนรายอื่น ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าการให้บีทีเอสดำเนินการนั้นดีที่สุด

ประเด็นสำคัญคือยังมีข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 85 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีผลกระทบต่อสัมปทานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อสัญญา จึงเห็นว่าควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น